Sunday, April 1, 2007

ราชนีติ-RAJANITI

แนะนำหนังสือ
ราชนีติ
RAJANITI



สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ถอดความภาษาอังกฤษ

ศาสตราจารย์ ตุน นาร์ ดูเบย์
Prof. Dr. Tung Nart Dubey
ถอดความภาษาสันสกฤต เป็นภาษาอังกฤษ

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ MBA, 2545

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ

ที่มาของหนังสือ
ด้วยบทขึ้นต้น และคำนำเสนอหน้าปก ว่า “คิดอย่างกษัตริย์ บริหารดุจราชันย์ คือ ผู้พิชิตล้ำเลิศเหนือมนุษย์” คงช่วยขยายความสำคัญบางประการที่ปรากฏในงานชิ้นนี้ จากศาสตร์และศิลป์ในองค์ความรู้แห่งโลกโบราณ ซึ่งสังคมสยามได้เพียรพยายามถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราว สู่การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังภูมิธรรมในด้านการเมืองการปกครองมาโดยตลอด ในครั้งนี้ เนื้อหาและความงาม ซึ่งผ่านการใคร่ครวญคิดคำนึง ถึงหลักปฏิบัติอันพึงกระทำและไม่พึงกระทำ จากงานยิ่งใหญ่ของมหาปราชญ์นาม พราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณมิสกะ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในอีกหนึ่งต้นฉบับ จากฝีมือของหนึ่งนักคิดอินเดีย และสองนักเขียนไทย

ผู้ถอดความและผู้เรียบเรียงทั้ง 2 คน นำเสนอมุมมองทางปัญญา และคลังความรู้แห่งโลกตะวันออก ด้วยการถ่ายทอดมุมมองจากภาษาอังกฤษ ที่ได้รับการขัดเกลาจากภาษาสันสกฤต เพื่อตอกย้ำให้เห็น ถึงความสำคัญของงานเขียนระดับคัมภีร์ชิ้นนี้ ว่าเหตุใดภูมิปัญญาแห่งโลกภาษาสันสกฤตจึงได้รับความสนใจจากปัญญาชนไทย จนกระทั่งมีการแปลและถ่ายทอดความในหลายครั้งหลายครา ความหมายแห่งภูมิธรรมเหล่านี้ ยังคงสดใหม่และลุ่มลึกเสมอ สำหรับโลกแห่งปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ที่เรายังคงต้องการองค์ความรู้ ไว้คอยกำกับจังหวะก้าวชีวิตแห่งการกระทำและไม่กระทำของผู้ปกครองทั้งหลาย นอกเหนือจากความชำนาญการในด้านอื่น วิทยาการในด้านการจัดการของโลกโบราณ ลุ่มลึกและประสานกันไว้ได้อย่างนุ่มนวล จนเสมือนอ่านงานเขียนคัมภีร์ชิ้นนี้ ด้วยความรู้สึกดุจการอ่านบทกวี เรียบง่ายชัดเจน และใช้ภาษาที่เข้าใจได้ตรงความ เป็นอีกหนึ่งต้นฉบับของการถ่ายทอดความคิด ความเข้าใจ และมุมมองต่อโลก ด้วยภาษาที่ก้าวผ่านขีดจำกัดของความเข้าใจ โดยใช้สำนวนความคิดในโลกปัจจุบัน


คำกล่าว
ราชนีติ ศาสตร์อันพึงปกครอง
ศาสตราจารย์ ตุน นาร์ ดูเบย์

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติ และซาบซึ้งต่อสำนักพิมพ์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร ที่ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าถ่ายทอดศาสตร์ หรือคำว่า “ราชนีติ” ต่อท่านผู้อ่าน ข้าพเจ้ามีความยินดีเพราะคำว่า “ราชนีติ” นั้น เป็นศัพท์เฉพาะจากชมพูทวีป หรือมาจากทางอินเดีย “ราชนีติ” เป็นคำศัพท์ที่บ่งถึงสิ่งประพฤติปฏิบัติจากผู้ปกครองของรัฐ ดังนั้นความหมายอีกอย่างของ “ราชนีติ” คือ “ศาสตร์ว่าด้วยการปกครอง” นั่นเอง

“ราชนีติ” เป็นคำผสม ระหว่างคำว่า “ราชา” หรือ “รัฐ” และคำว่า “นีติ” ซึ่งหมายความถึง “สิ่งที่เกี่ยวกับความประพฤติ” ดังนั้น ความหมายโดยรวมก็คือ “ความประพฤติของรัฐ” นั่นเอง

รัฐศาสตร์ ถือว่าเป็นศาสตร์ว่าด้วยการปกครองของรัฐบาล ที่มีต่อกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง และถึงแม้ว่าคำว่า ราชนีติ จะพ้องความหมายไปในศาสตร์ว่าด้วยการปกครองของรัฐ หรือรัฐศาสตร์ แต่แก่นสารที่แท้แห่งราชนีติมีความหมายมากกว่าศาสตร์แห่งการปกครอง

ราชนีติ คือ “คลังวิทยา” ที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งการปกครองหรือการบริหารในทุกๆเรื่องของรัฐประชาชาติเป็นศาสตร์ว่าด้วยการบริหารองค์กร โดยเจ้าผู้ปกครอง พระราชอำนาจพิเศษ และข้อจำกัดของผู้ปกครอง สิ่งจำเป็นสำหรับราชอาณาจักรของเจ้าผู้สืบราชสมบัติ หรือผู้ปกครองรัฐที่มาจากฉันทามติของปวงชน สิ่งที่ว่าด้วยความเป็นตัวแทนประชาชน กิจการกองทัพ บุคลากรของหน่วยงานรัฐที่ครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้าน

ราชนีติยังหมายถึง การบริหารรายได้ การใช้จ่าย การค้า การอุตสาหกรรม และสวัสดิการของรัฐต่อประชาชน ยังครอบคลุมไปถึงการพิจารณาและตัดสินคดีความอันชอบธรรม ศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการคลังให้เกิดสมดุล ศาสตร์ว่าด้วยสงครามและสันติภาพ พิชัยสงคราม รัฐประศาสนศาสตร์ คลังวิทยาแห่งราชนีตินี้ ครอบคลุมไปทุกแขนงของการดำรงอยู่ของรัฐ และประชาชนซึ่งรวมถึงหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย

คุณภาพของศาสตร์ทางการเมือง รวมถึงนักการเมือง ได้เสื่อมลงไปมากจึงทำให้ ราชนีติ เป็นสิ่งที่จักต้องนำมาพิจารณา และนำมาปฏิบัติ ท่านมหาตมะ คานธี ได้นำศาสตร์ว่าด้วยการปกครอง หรือราชนีติ มาประยุกต์ใช้ในการต่อสู่แสวงหาสัจจะทางการเมืองเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่ออาณาประชาราษฎร์ และได้บรรลุถึงความเพียร โดยอาศัยราชนีติ เป็นเข็มทิศในการปฏิบัติ นับแต่อดีตกาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันกาลมวลประชาราษฎร์ ต้องการศาสตร์แห่งการปกครอง หรือการบริหารที่มีคุณภาพมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง

การเมืองในปัจจุบัน ได้กลายเป็นศาสตร์ที่ถูกปฏิบัติจากสิ่งๆหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์ หากแต่ไม่ใช่มนุษย์เสียทีเดียว เพราะคุณภาพที่ราษฎรได้รับจากการปกครองเต็มไปด้วยความตลบตะแลง และฉาบฉวย นักการเมืองเช่นนี้ ดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้อาศัยปัญญา แต่มาจากสัญชาติของสัตว์ที่อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ปัญญา การฉ้อฉลต่อศาสตร์แห่งการปกครองและจากนักการเมืองที่สร้างวงจรอุบาทว์ขึ้นมานั้น ได้ทำลายกระบวนการปกครองอันชอบธรรมและทำให้ความสง่างามขอศาสตร์ ว่าด้วยการปกครองต้องมัวหมองไป

ความไม่สง่างามเหล่านี้ ได้อุบัติขึ้นเพราะความล้มเหลวที่จะเข้าใจธรรมชาติแห่งศาสตร์และบทบาทของการปกครอง จุดมุ่งหมายของการเมืองการปกครอง คือการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ความขัดแย้งอาจเป็นครรลองของการเมือง แต่การเมืองมิได้ถูกรังสรรค์มาเพื่อการนั้น การจัดการความขัดแย้งจึงเป็นศาสตร์แห่งการปกครอง สำหรับธรรมชาติสังคมมนุษย์ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรกีฬา หรือสมาคมสตรี ปีศาจการเมืองจึงปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง คอยหลอกหลอนมนุษย์ทุกชั่วยาม การเมืองจะหมดไปจากโลกนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเราจัดระเบียบให้สังคมมีสภาพเป็นค่ายทหารได้

มหาภารตะนั้น ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ของหมู่บัณฑิตอินเดีย แม้เราหันไปเรียนรู้ศาสตร์และวรรณกรรมจากทางอัสดงประเทศ แต่ที่สุดเราก็ต้องกลับไปแสวงหาสัจจะในเรื่องการเมืองการปกครองที่ทุกสำนักถามกันอยู่เสมอคือ “เพราะเหตุใดคนบางคนจึงสามารถปกครองคนอื่นๆ ทั้งๆที่คนอื่นๆนั้น มีปัญญาและปฏิภาณ และความแข็งแกร่งทางกายภาพ ไม่แพ้ผู้ปกครองผู้นั้น”

หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจมีอยู่ว่า เพราะแรกเริ่มเดิมทีเดียว โลกมนุษย์ ไม่มีรัฐ ไม่มีเจ้าผู้ปกครอง ไม่มีกฎหมาย หรืออาชญากรรม แต่มนุษย์ได้ตกลงไปในทะเลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง และต้องการเข้ายึดการปกครองเหนือผู้อื่น โดยไม่คำนึงว่าอำนาจที่ได้มานั้นเป็นอำนาจอันชอบธรรมหรือไม่ เหมือนดั่งกับปลาใหญ่กินปลาเล็ก

เพื่อรักษาสังคมและความมั่นคงให้กับระเบียบรัฐ จึงบังเกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้สังคมตกอยู่ภาวะอนาธิปไตย ซึ่งเป็นผลจากกฎปลาใหญ่ ราชนีติจึงเกิดขึ้นเพื่อปกครองรัฐที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมา

พัฒนาการแห่งศาสตร์แห่งการปกครอง (ราชนีติ) มีความสัมพันธ์กับการจัดระเบียบสังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับศตวรรษนี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่มีรัฐใดที่ดำรงอยู่ได้ โดยปราศจากการใช้อำนาจคุกคามบังคับที่จะไม่ถูกต่อต้าน รัฐคือผลแห่งความปรารถนาของมนุษย์ผู้ต้องการความมั่นคง และระเบียบทางสังคมที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสงบและเก็บเกี่ยวรื่นรมย์กับผลไม้ที่มาจากการลงแรงของตัวเขา และไม่กลายเป็นเหยื่อของกฎปลาใหญ่

ไม่น่าประหลาดใจว่า ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เชือดเฉือนต่อราชนีติ จะมาจากเหล่าผู้ปกครองเผด็จการ สถานการณ์ของเขาเหล่านี้อาจจะแตกต่างกัน ปัญหาและอำนาจนั้นหลากหลายแต่สิ่งสามัญที่เหมือนกันคือการปฏิเสธต่อราชนีติ อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าเหล่าผู้ปกครองเผด็จการ ผู้ไม่อดทน ก็จะพบว่าปีศาจนั้นไม่สามารถไล่ไปได้และพวกเขาก็จะกลายเป็นกลุ่มพวกของมันไป ทั้งที่รู้สึกตัวอยู่ จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่จะยอมรับความจริงในเรื่องของความขัดแย้ง และหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ โดยการต่อต้าน โดยการยินยอม โดยการญาติดี โดยการโน้มน้าวใจหรือกล่าวสั้นๆ โดยการอาศัยหลักของราชนีติ บุรุษผู้ยอมรับเอาภาระที่สำคัญนี้ นับเป็นผู้รับบทบาทอันทรงเกียรติ

ใครก็ตามที่ใส่ใจในสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ และประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์ เขาผู้นั้นก็จะเป็นนักการเมืองที่ดี ปกครองประเทศโดยมองผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ความสามารถอันเป็นเอกที่รัฐบุรุษในยุคใหม่พึงมีคือ ความสามารถในการสร้างความกระจ่างแจ้ง แทงตลอดในเรื่องความสับสนและความโกลาหลอันเกิดจากผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไหลรวมเข้ามาอยู่โต๊ะประชุมของรัฐบาล มันเป็นความสามารถในการหยั่งถึงผลประโยชน์อันไร้เดียงสาของแต่ละกลุ่ม จนกระทั่งถึงผลประโยชน์ที่ถาวรและแท้จริงของชาติ ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญ ความเมตตา และข้อมูลที่กว้างขวาง นี่เป็นเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใด เราจึงหารัฐบุรุษกันได้ยาก

ความตั้งใจอย่างเดียวยังไม่ดีพอ ในศาสตร์ของการบริหารจำต้องอาศัยทักษะ ในการเข้าใจต่อปัญหา และนำทักษะนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์คนดีๆ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงบนเวทีการเมือง โดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับกฎการปกครอง อุปมาดังพ่อค้าวาณิชหรือนักธุรกิจที่ต้องการจะทำการค้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะค้าจะขายอะไรดี หรือบุคคลที่ต้องการจะขับรถแต่ไม่เข้าใจว่ารถวิ่งได้อย่างไร จนบัดนี้ แม้ว่าสังคมจะตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันตัวเองจากบุคคลประเภทหลัง แต่สังคมก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองจากคนกลุ่มแรก แท้จริงแล้วนักการเมืองอ่อนหัดที่มีคุณธรรม ก็สามารถสร้างความลุ่มหลงอย่างไม่อาจต้านทานได้สูงมาก

สังคมต้องเรียนรู้ที่ป้องกันตนเอง จากนักการเมืองไม่ดี ที่มองศาสตร์แห่งการปกครองเป็นเพียงเกมชนิดหนึ่ง และอาศัยสิ่งเหล่านี้มาบงการสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และในขณะเดียวกัน สังคมต้องเรียนรู้ที่จะต้องป้องกันตนเองจากที่ดีเกินไปที่จะรับรู้ถึงเกมการเมือง


บทนำบรรณาธิการ
“ปัญญาตะวันออก”
วิริญบิดร วัฒนา

ในฐานะคนอุษาคเนย์ เราภาคภูมิใจในผลงานชิ้นนี้

การนำเสนอ “คัมภีร์ราชนีติ” นับเป็นการบรรลุภารกิจสำคัญ MBA ได้เคยสัญญากับผู้อ่านไว้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรานำเสนอผลงานเรื่องราวของศาสตร์การจัดการสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง แทบทั้งหมดเป็นของนักคิด นักวิชาการตะวันตก จนดูราวกับว่า “กระบวนทัศน์ฝรั่ง” คือความเป็นเลิศ หนึ่งเดียว ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากแต่เกิดจากความสามารถในเชิงเทคนิค คือการรวบรวมอย่างเป็นระบบ มีต้นฉบับ จำนวนมาก นำเสนอให้ง่าย มีกระบวนการทางด้านการตลาดในการเผยแพร่

ตรงข้าม ยิ่งเรานำเสนอ “กระบวนทัศน์ฝรั่ง” ก็ยิ่งเชื่อว่า “กระบวนทัศน์ตะวันออก” สู้ได้ เหนือชั้นและลึกซึ้ง แต่ต้องค้นหาและผลักดันเข้าสู่แวดวง “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” ให้ได้

MBA จึงเริ่มต้นแสดงหา “ต้นฉบับ” จากฝ่ายนักคิดตะวันออก ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องลึกซึ้ง ง่ายต่อความเข้าใจ หากแต่ยังต้องพิสูจน์ตนเองมาแล้วในสมรภูมิการจัดการ

ไม่ใช่เป็นเพียงคัมภีร์ที่เคลือบด้วยความงาม ทางภาษา หากต้องเห็นผลในทางปฏิบัติได้จริง “ราชนีติ” คือมรรคผลนั้น

ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาติตะวันตกต่างต่อสู้เพื่อแย่งชิงอินเดีย ให้ตกเป็นอาณานิคมนั้น นอกไปจากวัตถุดิบ และแรงงานป้อนสังคมอุตสาหกรรมใหม่ของตนแล้ว สิ่งที่ชาติตะวันตกต้องการจากอินเดีย เพื่อสนับสนุนความยิ่งใหญ่แท้จริงก็คือ อารยธรรมอันสมบูรณ์พร้อม

ซึ่งในบางสิ่งนั้น ตะวันตกไม่มี

คำถามหลายๆ เรื่องที่ปรัชญาเมธีตะวันตกได้เพียงแต่ตั้งปุจฉาไว้ กลับสามารถพบคำตอบจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเฉลยไว้ก่อนล่วงหน้ากว่าพันปี

ภาษาสันสกฤต วรรณกรรม และปรัชญา เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญ สืบเนื่องจากเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือความจริงที่ว่า อารยธรรมอินเดีย คือ ต้นธารที่ไหลแยกเป็นหลายสายแทรกซึมอยู่ในหลักความคิดแห่งการเชื่อมโยง ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นแก่นแกนเอกภาพขององค์สหวิทยาการ อันรวมอยู่ในกระบวนทัศน์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของสังคม และยังชี้นำกำหนดนโยบาย โครงสร้างจากส่วนบน ทั้งในระดับสัมพันธ์เชิงอำนาจ และระบบปัญญาความคิด ของภูมิภาคเอเชียเอเชียเกือบทั้งหมด

โดยเฉพาะศาสตร์แห่งอำนาจ และการปกครอง อรรถศาสตร์ นีติศาสตร์ และโมกษศาสตร์ อันมีความหลากหลายครอบคลุมมากกว่าแหล่งอารยธรรมอื่น

คัมภีร์โลกนีติ ธรรมนีติ ราชนีติ ทัณฑนีติ ราชสวัสดิ์ อรรถศาสตร์ จารึกอโศก คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ราชธรรม 38 ประการ ในวิทิตชาดก ทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดก จักกวัตติวัตร ในพระไตรปิฎก จาณักยศตกะ วยาการศตกะ จามเทวีวงศ์ อปริหานิยธรรม หิโตปเทศ นิทานปัญจตันตระ ชินกาลมาลีปกรณ์

เหล่านี้ล้วนอยู่ในความต้องการของชาติตะวันตก ที่จะนำไปศึกษา นอกเหนือจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อุปนิษัท และมหากาพย์ต่างๆ ที่ได้รับรู้มาก่อนแล้ว และคือบางส่วนของอิทธิพลจากอินเดียที่ไทยรับมาทั้งโดยตรงและทางอ้อมจากอาณาจักรขอม เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างชนชั้นปกครอง อันพร้อมด้วยองค์คุณแห่งการบริหารอำนาจเพื่อธรรม

ขณะที่คัมภีร์การปกครองของปราชญ์ตะวันตก มักสุดโต่ง ในทางแสวงอำนาจ ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพและการดำรงอยู่อย่างปัจเจกนิยม ปรัชญาของเมธีตะวันออก ก็มักจะมีเป้าหมายที่การอยู่ร่วมกันและความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพชีวิต เมตตาธรรม และโมกษธรรม

แต่ในบรรดาคัมภีร์ทั้งหมดนั้น “ราชนีติ” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ผสมผสานระหว่าง พราหมณ์และพุทธ กลับมีลักษณะความคิดที่ครอบคลุมทั้งแบบอุดมการธรรม และอำนาจเบ็ดเสร็จ แบบเทวนิยมและอเทวนิยม ทั้งอหิงสาและปฏิยุทธ์ มีทั้งนโยบาย เพทุบาย และกุศโลบาย ขณะที่ให้ความสำคัญเรื่องหนึ่งก็ไม่ละเลยรายละเอียดอีกด้าน แล้วยังหลีกเลี่ยงแนวทางสุดโต่ง และรวบรัดความคิดทั้งหลาย

นอกจากนั้น ราชนีติ ยังเป็นคัมภีร์หนึ่งเดียวอันมีแนวทางที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงศึกษา และใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง บริหารบุคลากร การคลัง และตรวจสอบราชการตลอดยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการถ่ายทอดระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น

ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มักจะได้รับคำอบรมสั่งสอนแต่เพียงว่า “ทศพิธราชธรรม” คือธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ปกครองบ้านเมือง แต่ตามราชนีติ กำหนดให้ทศพิธราชธรรม เป็นคำสอนข้อที่ 131 ในบรรดาที่มีทั้งหมด 153 ข้อ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีโศลกสรรเสริญพระบารมี ลิลิตของพระองค์เจ้าคุณณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) มีความตอนหนึ่งว่า

ธรรมศาสตร์ไสยศาสตร์ทั้ง ราชนิติ์
โลกยวัตรสุภาษิต ก่อนกี้
ไทยขอมแขกอังกฤษ วจนวากย์
สรรพศาสตร์ดั่งเช่นชี้ พระแจ้งเจนเกลียว

โศลก บทนี้ อาจจะช่วยไขปัญหาของเราที่ว่า เพราะเหตุใดยุวกษัตริย์ในกาลก่อน ที่ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติตั้งแต่ทรงเยาว์วัย นับจากชมพูทวีป พุกาม จนถึงสุวรรณภูมิ จึงทรงปรีชาสามารถยิ่งนัก ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่จำกัด สามารถก้าวผ่านไปได้ด้วย “คัมภีร์ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” ที่ผ่านการกลั่นกรอง และเคี่ยวจนข้นเหลือ เป็นคำสอน 153 ข้อ อ่านจบได้เพียงชั่วยาม ก่อนปกครองไปอีกหลายทศวรรษ และถ่ายทอดกันเป็นการภายใน ไม่ให้แพร่งพราย เว้นเสียแต่ส่วน “ทศพิธราชธรรม”

ในแง่ของผู้ถูกปกครอง นี่คือความแจ่มแจ้งว่า โดยเนื้อแท้แล้วพวกเรา อยู่ภายใต้ “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” แบบใดกันแน่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ราชนีติ” น่าจะเป็นศาสตร์แห่งการจัดการ “ตัวจริง” ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างล้ำลึกจากเบื้องบนมากที่สุด

ตามประวัตินั้น ราชนีติเป็นคัมภีร์โบราณ รจนาโดย พราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณมิสกะ เชื่อว่ามีความเก่าแก่กว่า 2,000 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่ หลักการเหล่านี้ได้ถ่ายทอดแบบมุขปาฐะแล้ว คงจะมีมานานตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ในการศึกษาเชิงประวัติและที่มา โดย ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณคดีไทย พบว่า ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คัมภีร์ราชนีติ ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยพระมหาแก้ว วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ.2348 แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีต้นฉบับ เพียง 58 คาถา จนกระทั่งถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีความสนพระทัยในภูมิธรรมของอินเดียอยู่มาก ได้รวบรวมต้นฉบับจนสมบูรณ์ และให้พระญานวิจิตร แปลต่อตั้งแต่คาถาที่ 58 จนครบบริบูรณ์ และในปี พุทธศักราช 2470 นายกิม หงศ์ลดารมณ์ ก็ได้แปลคัมภีร์ราชนีติ จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ให้ชื่อว่า ราชนีติปกรณ์ และในปีพุทธศักราช 2507 ก็ได้นำมาชำระภาษาบาลี และภาษาไทยใหม่อีกครั้ง รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขให้ง่ายขึ้น โดยนายเกษม บุญศิริ และได้ใช้ชื่อว่า “ราชนีติ”

ปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยมากกว่า 2,500 ปี และภารตวิทยา จะกลับกลาย เสมือนสิ่งพ้นสมัยในโลกยุคนี้ ชาติตะวันตกใช้เวลา เพียงร้อยกว่าปี เปลี่ยนประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นชาติใหม่ ด้วยระบบการศึกษาของคนตะวันตก โดยตะวันตก เพื่อตะวันตก เช่นเดียวกับระบบการพาณิชย์ และระบบการเมือง การปกครอง แต่ “ราชนีติ” ยังคงความเป็นอมตะ โดยได้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมใน หมู่นักรัฐศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมา ยังมีการเผยแพร่ เฉพาะวงจำกัดในชุมชนวิชาการ

ภูมิปัญญาชั้นสูงนี้ ครั้งหนึ่งบรรพชนฝ่ายเรา เคยนำไปปะทะภูมิปัญญาฝรั่ง จนสามารถกลั่นกรอง เลือกรับ เลือกรู้ ปรับใช้ไม่ถูกครอบงำทางความคิดโดยเบ็ดเสร็จ รักษาชาติ บ้านเมืองมาแล้ว

ถึงวันนี้ MBA ขอนำ “ราชนีติ” เข้าสู่แวดวงของ “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” เป็นการประเดิมความมุ่งหวังที่จะแสวงหา นำเสนอ “ปัญญาตะวันออก” เข้าสู่แวดวงดังกล่าว อย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป

เพื่อให้ภารกิจ ดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว สมพงศ์ สุวรรณจิตกุล ได้ร่วมกันถอดความเป็นภาษาอังกฤษ โดยมุ่งหวังให้เป็นสิ่งปะทะท้าทาย “ศาสตร์ การจัดการสมัยใหม่“แห่งโลกตะวันตกนั่นเอง




โครงสร้าง เรียบเรียง จัดแบ่งเนื้อหา จำนวน 153 บท ที่ประกอบด้วย

ตัวอย่าง

บทที่ 1
ข้าพเจ้าจะแสดงราชนีติที่เห็นประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการขยายพระราชอาณาจักร

บทที่ 2
ข้าพเจ้าจะกล่าวคุณสมบัติแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอิสราธิบดี และอำมาตย์ข้าเฝ้า อันว่าพระมหากษัตริย์อันสูงศักดิ์ ควรทรงพิจารณาให้ตระหนักซึ่งข้าเฝ้าโดยชอบในกาลทุกเมื่อ

บทที่ 152
พระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้คัมภีร์นีติศาสตร์ จนสอดคล้องในพระราชหฤทัย ทรงรอบรู้นัยยะต่างๆ เป็นอย่างดี ก็ย่อมจะไม่ถึงความพินาศ ทั้งยังทรงได้ชัยชำนะทั่วรัฐมณฑล และทรงเพลิดเพลินในสวรรค์

บทที่ 153
ท่านพราหมณ์อนันตญาณ กับท่านพราหมณ์คณามิสกะ ผู้เป็นราชปุโรหิตของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้รจนาคัมภีร์ราชนีตินี้ไว้ เพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ประชุมชนฉะนี้แล

จบคัมภีร์ราชนีติเท่านี้แล


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ
ปีที่พิมพ์ : มีนาคม 2545
ชื่อหนังสือ : ราชนีติ
ประเภท : ความรู้ด้านการเมืองการปกครอง
ชื่อผู้เรียบเรียง : สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
บรรณาธิการ : วิริญบิดร วัฒนา

ข้อมูลทางบรรณานุกรม
สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ราชนีติ.- - กรุงเทพฯ : สื่อดี, 2545
189 หน้า
I. ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ผู้แต่งรวม
II.ชื่อเรื่อง
ISBN 974-90255-7-1

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ

ประวัติ

สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
สื่อมวลชนที่มีประสบการณ์ในด้านมุมมองทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันทำหน้าที่สื่อทางสังคม ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้จัดการ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและมุมมองใหม่ทางความคิด ผ่านการถ่ายทอดสู่สังคมไทยด้วยการจัดทำหนังสือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
อดีตนักการธนาคาร ผู้มีแนวคิดและความเชื่อมั่นในเรื่องความเข้าใจและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของทุนในระดับโลก รวมทั้งสนใจการพัฒนาองค์ความรู้ และการถ่ายทอดทางปัญญา จึงพัฒนาความคิดสู่การทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยในปัจจุบันเป็นเจ้าของนิตยสาร Corporate Thailand นิตยสาร MBA และสื่อรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดการ และบริหารทุน ผสมผสานกับมุมมองของแนวคิดสมัยใหม่ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย

No comments: