Sunday, April 1, 2007

ขึ้นโขนชิงธง

ขึ้นโขนชิงธง

คติ มุธุขันธ์

4 พฤศจิกายน 2549

ภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมแนววิพากษ์ มักสวนทางกับภาพงดงามรังสรรค์เสมอ หนึ่งในเนื้อหาของวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มักเป็นตัวตั้งในการมองหาคู่ถกเถียงอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำเป็นที่ต้องอ้างอิงภาพโรแมนติคงดงาม ซึ่งฉายผ่านสังคมไทยอันอบอุ่นในอดีต โดยหลายครั้งกลับกลายเป็นมุมมองความเชื่อด้านเดียว เป็นต้นเรื่องในการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมไทยได้อีกยาวนาน ว่าการมองวัฒนธรรมแบบหยุดนิ่งตายตัว คือเสน่ห์ที่น่าตั้งคำถามอย่างสนุกสนาน หนึ่งในงานศึกษาความหมายของวัฒนธรรม จากการเขียนวรรณกรรมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย มีเรื่องราวหนึ่งในวัฒนธรรมของลำน้ำหลังสวน ซึ่งปรากฏเสน่ห์ที่น่าค้นหา เมื่อมีเนื้อหาที่เขียนถึงงานแข่งเรือของชาวหลังสวน จังหวัดชุมพร

ว่า การแข่งขันเรือยาวของอำเภอหลังสวน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2387 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีการแข่งขันเรือยาวของหลังสวนเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี ในวันออกพรรษานี้ ชาวพุทธ จะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดจากความเชื่อที่ว่า ในวันอันสมมตินี้เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดสัตว์โลก ซึ่งในสมัยนี้ก็คงจะใช้เรือเป็นพาหนะ เสร็จจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้วก็สนุกสนานด้วยการพายเรือแข่งขัน การแข่งขันเรือยาวของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นการแข่งขัน ที่ตื่นเต้นเร้าใจ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรือที่ครองความชนะเลิศนอกจากจะมาจากความพร้อมเพรียง ของฝีพายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของ นายหัวเรือ และนายท้ายเรือ อีกด้วย นายท้ายเรือจะต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อให้นายหัวเรือ ขึ้นโขนชิงธง ที่ทุ่นเส้นชัย แม้ว่าเรือลำใดจะนำหน้าอยู่ก็ตาม หากนายหัวขึ้นโขน ยาว 7 ศอก กว้าง 10 นิ้วแล้วคว้าธงผิด หรือคว้าธงได้แต่ตกน้ำ หรือเรือล่มก่อนที่นายท้ายเรือ จะพ้นปากกระบอกธงชัยก็จะถือเป็นแพ้ ความเร็วของเรือจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดความเป็นผู้ชนะแต่อย่างใด นายหัวเรือจะต้องกะจังหวะขึ้นโขน และจะต้องขึ้นไปให้สุดปลายโขน เพื่อความได้เปรียบในการจับธงนายหัวเรือลำใดจับธงได้ เรือลำนั้นจะชนะในเที่ยวนั้น การขึ้นโขนชิงธงจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่หาดูได้เฉพาะสนามแข่งเรือ ณ แม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

เอกสารแนะนำเนื้อหาการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร ในข้อมูลที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยแพร่ ไม่ใช่เพียงเนื้อหาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ภาพสะท้อนจากเรื่องราวของการแข่งเรือ ของแม่น้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร ที่เด้งขึ้นมาจากวรรณกรรมอันงดงาม มาสู่คำถามของความจริง ที่กลับกลายเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นอันโดดเด่น ซึ่งท้องถิ่นอื่นไม่ปรากฏรูปแบบทางวัฒนธรรมเช่นนี้

ตามปกติของการแข่งเรือพายทั่วประเทศไทย ในแต่ละท้องถิ่น มักเกิดขึ้นท่ามกลางความจำเป็นทางวัฒนธรรม เมื่อน้ำในลำน้ำไหลหลากมากมายพอต่อการแข่งขัน เมื่อเทศกาลทางศาสนาบรรจบกับความพร้อมเพรียงของชีวิตเกษตรกร นาฬิกาชีวิตของผู้คนจึงสรรค์สร้างวัฒนธรรม และเติมประเพณีของชีวิตในแต่ละชุมชน เช่นเดียวกับความหมายของงานบันเทิงรื่นเริงในสังคมเกษตรกรรม ซึ่งอาจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ศึกษาพบว่า เทศกาลรื่นเริงแบบไม่จำกัดวันเวลาในสังคมไทย เกิดขึ้นภายหลังความเปลี่ยนแปลงทางแรงงานและสังคม เมื่อชุมชนตลาดเริ่มต้นเกิดขึ้นตามคุ้งน้ำ โดยเฉพาะแยกทางน้ำที่ลำคลองหรือลำน้ำหลายสายบรรจบกัน มักปรากฏตลาดขนาดใหญ่ขึ้น

ขณะที่ความหมายของงานรื่นเริงในสังคมเดิมของชุมชนเกษตรกรรมไทยในอดีต ล้วนถูกกำหนดขึ้นจาก ความสำคัญของงานบุญทางศาสนาแทบทั้งสิ้น ซึ่งหากนับครั้งของงานรื่นเริงที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านผิดศีลห้าข้อ จะพบว่ามีจำนวนครั้งที่น้อยมากเมื่อเทียบกับวันเวลาในแต่ละปี ความเปลี่ยนแปลงของคุ้งน้ำเมืองสยาม เกิดขึ้นพร้อมการปรากฏตัวของตลาดริมน้ำ จากท่าเรือและเรือนแพซึ่งเดิมเป็นสีสันของลำน้ำ ถูกเพิ่มเติมด้วยห้องแถวไม้ ศาลเจ้าจีน และโรงฝิ่นทั้งหลาย ทั้งหมดล้วนมาพร้อมกับเจ้าภาษีนายอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของแรงงานอิสระชาวจีน ที่ยืนขึ้นมาแทนแรงงานไพร่ทาสไทย โดยผูกพันไว้กับนายแต่ละคุ้มวังหรือแต่ละบ้าน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือคำตอบของเรื่องราวของชีวิตริมน้ำไทย ที่เปลี่ยนไปพร้อมกับความหมายของชีวิต

การไล่ลำดับจุดกำเนิดของงานแข่งเรือพายแห่งลำน้ำหลังสวน ไม่ใช่เพียงการการคุ้ยเรื่องราวของอดีตมาผลิตซ้ำเพื่อนำเสนอใหม่ หรือไม่ใช่เพียงเนื้อหาของชีวิตชาวพุทธริมน้ำ กับงานรื่นเริงของชุมชนคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำความหมายอันหลากหลาย ของวิถีชีวิตผู้คนบนผืนแผ่นดินนี้

ท่ามกลางความพยายามในหลายๆครั้ง ที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ของคนไทยให้คล้ายคลึงและเหมือนกันไปหมด ทั้งด้วยคำอธิบายถึงวิธีคิด วิถีชีวิต และศรัทธาความเชื่อของชุมชน ความเชื่อดั้งเดิมของวัฒนธรรมเรือในสังคมเกษตรกรรม มักกล่าวอ้างถึงมงคลของเรือแต่ละลำ โดยเฉพาะการอ้างอิงแม่ย่านางเรือ ซึ่งปรากฏว่ามีการกราบไหว้บูชา จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันของงานบุญในหลายครั้งของเทศกาล แต่สิ่งที่ปรากฏพร้อมประเพณีขึ้นโขนชิงธง กลับกลายเป็นเรื่องราวที่ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์พื้นฐานว่ามงคลที่หัวเรือ หรือมงคลซึ่งอยู่ที่โขนเรือ ทำไมจึงสามารถเหยียบได้

กฎเกณฑ์เฉพาะถิ่นของการขึ้นโขนชิงธง อาจสะท้อนภาพของความจริง ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม และการค้นหาความจริงในแต่การแข่งขันในชุมชนชนบทถิ่นหลังสวน อย่างน้อยก็ต้องรู้ดำรู้แดงพอที่จะไม่กลับมาแข่งกันใหม่อีกรอบ ที่ไม่นับกับการค้นหาความหมายว่า กลไกในการคิดถึงมงคลเรือของชุมชนนี้ อาจมีอยู่แต่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางใหม่ หรือกระทั่งนำมงคลของเรือขึ้นจากลำน้ำเก็บไว้ก่อน และนำกลับคืนหลังการแข่งชันจบลง

โขนเรือความยาว 7 ศอก กว้าง 10 นิ้ว ไม่ใช่เพียงบททดสอบของความจริงในการต่อสู้ระหว่างเรือแต่ละลำ แต่อาจเป็นนวัตกรรมการพิสูจน์ชัยชนะแบบบ้านๆ ซึ่งหากฝีพายแข็งแกร่งพอกัน ก็ยากที่จะพิสูจน์ความจริงของชัยชนะ ในเมื่ออดีตไม่สามารถหยุดเวลามานั่งดูภาพนิ่ง ดังนั้นเนื้อหาการพิสูจน์ผู้ชนะอันแท้จริง จึงกลายเป็นหน้าที่ของชุมชนนั้น ในการคิดค้นวิธีการพิสูจน์ที่เท่าเทียมยุติธรรม และหยิบจับเป็นรูปธรรมได้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดคำตำหนิได้ภายหลัง

ความหมายของข้อตกลงทางชุมชน ซึ่งประดิษฐ์แต่ละคำตอบที่ได้ข้อสรุปจากผู้คน คือหนึ่งในเนื้อหาทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของชุมชนไทยมากมาย กระจัดกระจายกันไปตามแต่ละความต้องการใช้ประโยชน์ของแต่ละท้องถิ่น เพียงพอต่อการเลือกใช้สอย มากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่ความเหมือนกัน พยายามทำให้เหมือนว่าเป็นพิมพ์นิยมพิมพ์เดียวกัน หรือจำเป็นต้องยึดขนบไว้แน่นหนาตายตัว

เช่นเดียวกับความหมายของ คำว่า “ขึ้นโขนชิงธง” ด้วยภาพสะท้อนอันมิแตกต่าง ในความดุเดือดดุดันของอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยที่เราถูกพยายามทำให้เชื่อว่าเป็นสังคมประนีประนอม และไม่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ก็ทำให้เราได้แลเห็นว่า ความหมายของการเหยียบกฎเกณฑ์พื้นฐานทางสังคม บางอย่างเพื่อขึ้นไปสู่ความหมายของอำนาจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง และยังเป็นสิ่งที่สามารถหาข้อยกเว้นได้ไม่ยากเย็นนัก

เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของวัฒนธรรมในอดีต ความสัมพันธ์ของการขึ้นสู่อำนาจ แบบวัฒนธรรมไทยที่จำต้องสัมพันธ์พร้อมกัน ระหว่างนายท้ายเรือ ฝีพาย และนายหัวเรือ ที่จำต้องเหยียบโขนเรือ ขึ้นเกี่ยวแข้งขา เหยียดลำตัวยืดลำตัวเพื่อหยิบธงแดงให้ได้นั้น คือภาพสะท้อนของความสำคัญในชัยชนะ มุมมองของการขึ้นสู่อำนาจ ในสูตรแบบสังคมช่วยเหลืออุปถัมภ์ ไม่เพียงสร้างกฎเกณฑ์เฉพาะที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตรรกะของวัฒนธรรมชุมชนอื่นมากำหนด เมื่อพบเห็นและเรียนรู้ว่า การขึ้นโขนชิงธงเป็นเรื่องราวเช่นไร

เมื่อความหมายของชีวิต หยั่งยากยิ่งหากเรามองย้อนหลังไปได้ไม่ยาวไกลพอ เหมือนคำสอนต่อนักเรียนประวัติศาสตร์ที่ว่า เมื่อง้างคันศรเหนี่ยวรั้งคันได้ไม่ยาวพอ ลูกธนูก็มิอาจวิ่งทะยานไปได้ไกล ดังนั้นการล้วงอดีต ก็เพียงเพื่อส่งธนูสู่อนาคต

No comments: