Sunday, April 1, 2007

ผลัดแผ่นดิน

ผลัดแผ่นดิน

คติ มุธุขันธ์

17 มีนาคม 2550

เมื่อวันคืนบอกกล่าวให้เรารู้ว่า
เมื่อคราวน้ำเปลี่ยนสาย ลมเปลี่ยนทิศ
และแผ่นดินเปลี่ยนผู้ครอง
รอยไห้อันเจ็บปวด ย่อมบังเกิดขึ้น

การกล่าวต่อเนื่องติดต่อกันเช่นนี้ดูเหมือนจะมีนัยยะว่าแผ่นดินย่อมว่างกษัตริย์ไม่ได้ เพราะการเว้นว่างนั้นอาจนำไปสู่ความเสียหายวุ่นวายต่อบ้านเมือง

แต่ปัญหา "สุญญากาศ" ของกษัตริย์อาจไม่ได้หมายความเพียงแค่ช่วงเวลาขณะผลัดเปลี่ยนกษัตริย์พระองค์เก่ากับพระองค์ใหม่เท่านั้น ปัญหาของช่องว่างนี้เริ่มตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแสดงพระอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ารัชสมัยใกล้จะสิ้นลงแล้ว ก็สามารถเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นได้ ช่วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดินนี้เอง จึงเป็น "ความว่าง" ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายที่มีผลต่อราษฎร ขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนกระทั่งแผ่นดินทั้งแผ่นดินเช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาของการผลัดแผ่นดินบางคราว ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง การทำสงครามกลางเมือง การลอบสังหาร การฆ่าล้างแค้น แม้กระทั่งการฆ่าล้างครัว ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดการผลัดแผ่นดินทั้งสิ้น ๘ ครั้ง

มีบางครั้งที่สงบเรียบร้อย บางครั้งอาจจะขัดแย้ง แต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเป็นเพียงครั้งเดียวที่เรียกได้ว่า เกิดกบฏชิงราชบัลลังก์เหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้จะมีความเรียบร้อยแต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะ "ราบเรียบ" หรือเป็นไปอย่างรอมชอมทั้งหมด ตรงกันข้ามการผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งล้วนแต่มี "เงื่อนไข" ที่พ่วงติดมาด้วยทุกครั้ง เงื่อนไขเหล่านี้เอง ทำให้การผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า

ใครจะได้เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป และใครที่พลาดบัลลังก์อันสูงสุดนี้
บทขึ้นต้นที่น่าสนใจสำหรับยุคสมัยนี้ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และท่ามกลางความหวาดระแวง ภายใต้นิยามของขั้วอำนาจเก่า และคลื่นใต้น้ำ จากทั้งอดีตรัฐบาลและผู้สนับสนุนในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์สนุกสนาน หรือเรื่องถกเถียงตามวงกาแฟการเมืองเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้ กลับสะท้อนความเจ็บปวดของแผ่นดินไว้อย่างเยือกเย็น เสียวถึงกระดูกสันหลัง

เมื่อเรามีโอกาสย้อนมองวันเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์รัฐสยาม ข้อความข้างต้นที่ปรากฏขึ้นนั้น ปรามินทร์ เครือทอง เขียนไว้ในนามบทขึ้นต้นของเรื่องจากปก ในงานเขียนเดือนมิถุนายน 2549 ของสำนักศิลปวัฒนธรรม ถึงคราวแห่งความเปลี่ยนแปลงในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้โลกทรรศน์แบบจักรวาลวิทยา ที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ในแต่ละความหมายของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนมีเรื่องราวแห่งการประหัตประหาร และตัดคอผู้คนไปมิใช่น้อย

แต่ใช่ว่าเมื่อเราเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยอนุสติ จนสามารถย้อนกลับมาทบทวนต่อความจริงในทุกวันนี้ ว่าทำเช่นไร เราจึงจะไม่ย้อนวันกลับหากลียุค วันคืนในปัจจุบัน ท่ามกลางวาระซ่อนเร้นของรัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่พยายามไล่ต้อนพื้นที่ทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ทั้งในเชิงอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม หรือกระทั่งไล่ล่าพื้นที่แห่งการดำรงอยู่ของผู้คนที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ความหมายที่ย้อนรอยแทบไม่แตกต่างกันนี้ สร้างให้เราสะท้อนใจได้ไม่ยากนักว่า วันนี้เรากำลังประหัตประหารผู้คน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ

วันนี้ในบ้านเมืองของเรา เมืองไทยที่มีรอยยิ้ม กำลังมีการฆ่าฟันผู้คนในทางพื้นที่ทางความคิด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะภาพสะท้อนจากงานเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานศึกษาเรื่องการเมืองสมัยพระนารายณ์ และงานเขียนของพระเจ้าตาก ต่างระบุยืนยันถึงความอ่อนแอที่สำคัญยิ่งของกรุงอโยธยา ว่าการผลัดแผ่นดินที่เกิดขึ้น จากทั้งเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หรือขุนศึกที่ขึ้นมาครองความเป็นเจ้า ได้สร้างความอ่อนแออย่างปฏิเสธไม่ได้ การฆ่าฟันผู้คนที่เคยเป็นผู้จงรักภักดีต่อเจ้าผู้ครองแผ่นดินเดิม เป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้เกิดความอ่อนแอในกาลต่อมา

กรณีการลากคอข้าราชบริพาธ ทั้งชาวสยาม และชาวต่างชาติ ในยุคหลังสมเด็จพระนารายณ์ รวมทั้งการปิดประเทศไม่ข้องแวะ ไม่คบค้า ทั้งทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ศิลปะวิทยาการ หรือกระทั่งการไม่คบกับฝรั่งดั้งขอ เจ๊กจีน ยุ่นปี่ ก็คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราระลึกถึงรอยหยักของประวัติศาสตร์ที่ยับย่น อย่างที่เราไม่อาจปฏิเสธไปได้ ความหวาดระแวงอันเกิดจากความกลัว ว่าผู้คนเหล่านี้จะรวมตัวกัน เพื่อกลับมาโค่นแผ่นดิน พลิกแผ่นดินเหมือนพลิกดินหน้าเดิม ให้กลับมาเรืองอำนาจนั้น คือโจทย์ที่ฝังใจคนมาใหม่ ให้จำต้องกระทำอำมหิตกับผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน

ไม่แปลกใจนัก หากเราจะได้เห็นแขกต่างบ้าน ผู้คนต่างเมือง ยาตราเข้ามารับสนองงานในแผ่นดินใหม่ ก็ในเมื่อเหตุผลหลักที่ยากปฏิเสธ เมื่อหันไปทางใดก็ไร้คนมีฝีมือ ผู้มีปัญญาที่พอจะไหว้วานให้สนองคุณแผ่นดินได้ ในเมื่อกุดหัวตัดคอไปจนสิ้น ไม่นับญาติติโกโหติกาหลายสาแหรก ที่นอนนิ่งในหลุมเพียงเพราะมีสายเลือดเดียวกับยุครุ่นเรืองในแผ่นดินก่อน

ความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ในวันนี้ เมื่อเรามีโอกาสเห็นความจริง จากการกุดหัวผู้คนทางอัตลักษณ์ ตัดพื้นที่ของชีวิตพวกเขา ด้วยการขุดคดีความอันมิชอบ ขุดความเลวร้ายที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง เอาขึ้นมาปะหน้าผากและจับตัดหัวในโลกสมัยใหม่ จนคนมีปัญญามีฝีมือ ที่บางครั้งก็ไม่ได้น้อมตัวน้อมใจไปรับใช้ระบอบทักษิณอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จำต้องหลบหน้าหนีให้พ้นจากภัย อันเกิดจากวาระซ่อนเร้นในวันนี้

ความสำคัญของประวัติศาสตร์ ไม่เพียงทำให้เรามองเห็นรอยเท้าในปลักเท่านั้น แต่น้ำที่นองในปลักเมื่อเวลาผ่านไป ที่นำให้ตะกอนนิ่งตัว น้ำในรอยเท้าใสขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เราส่องใบหน้า มองเงาหูเงาหัวได้ชัดเจน โดยไม่ต้องตักใส่กะโหลกให้เจ็บใจเท่านั้น

การมองเห็นตัวเราจากภาพของอดีต คือสิ่งที่เราควรจะนำมาใช้ในวันนี้ หากเราจะต้องเข้าใจผู้คนในประเทศนี้บ้าง การแยกแยะระหว่างผู้คน การมองให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีประโยชน์ มีปัญญา มีความสามารถเพียงพอที่จะนำกลับมาเติมเต็มการพัฒนาประเทศให้วัฒนานั้น ไม่ใช่เพียงการพูดต่อสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังต้องมองถึงการปฏิบัติในทุกวันนี้ด้วย

การไล่ต้อนผู้คนที่มีความสามารถ และไม่ได้ฝักฝ่ายกับระบอบทักษิณให้ต้องตกแผ่นดิน หรือฝังตัวตนของเขาทางสังคมไว้ในพื้นที่ ก็คือจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังยุคเสื่อมแห่งแผ่นดินนี้ ที่ไม่ต่างจากรอยอดีตสักเท่าใดนัก

No comments: