Sunday, April 1, 2007

ฝรั่งที่คนไทยต้องรู้จัก

แนะนำหนังสือ

“ฝรั่ง” ที่คนไทยต้องรู้จัก


สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ผู้เรียบเรียง
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2546

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ

ที่มาของหนังสือ
ผู้เขียนและผู้เรียบเรียงทั้ง 2 คน นำเสนอภายใต้ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสังคมไทย หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย 2540-2545 ในฐานะสื่อมวลชนที่วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ-การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองความคิดของคนไทย ซึ่งพิจารณาความเคลื่อนไหวของชาวต่างประเทศ ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของไทย จึงจัดทำบทวิเคราะห์และลำดับ ถึงความเหมือนเหล่านั้นเพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างในตัวตนของแต่ละประชาชาติในฐานะของ “ฝรั่ง” ที่คนไทยมอง เรียบเรียงประเด็นตั้งต้นผ่านหนังสือ The Europeans ของ Luigi Barzini ปัญญาชนชาวอิตาลี รวมกับแนวคิดด้านต่างๆ และบทสัมภาษณ์ปัญญาชนไทย ที่วิเคราะห์พิจารณา เพื่อให้เท่าทันและเข้าใจบางสิ่งซึ่งซ่อนอยู่ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของ “ฝรั่ง”

โครงสร้าง เรียบเรียง จัดแบ่งเนื้อหา จำนวน 9 บท ที่ประกอบด้วย

บทที่ 1 - ฝรั่ง : ชนชาติที่เราต้องต่อกร (หน้า 6-19)
รูปปกภาพแว่นขยายส่องหน้า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ปัญญาชนชาวยิว เหมือนสื่อสารให้เห็นถึงแก่นแท้แห่งปัญญาประชาชาติ “ฝรั่ง” ในความแตกต่างของความคล้ายคลึง จากวิธีคิดวิถีชีวิตของแต่ละชาติ บทเกริ่นนำอธิบายความเป็นผู้นำของฝรั่ง ที่เกิดขึ้นจาก “องค์ความรู้” ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาติอื่นในโลก ว่าเป็นผลจากการสั่งสมของนักคิด นักทฤษฏี และปัญญาชนมากมาย ด้วยพื้นฐานอันยิ่งใหญ่นี้คือผลลัพธ์ต่อการดำเนินชีวิตของโลกปัจจุบัน กลายเป็น “ภูมิธรรม” ดั้งเดิมอันแข็งแกร่งของฝรั่ง ซึ่งครอบครองความยิ่งใหญ่ในโลก ภาพสะท้อนสัญลักษณ์ของ “เงินยูโร” ถือเป็นความใฝ่ฝันถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปสหรัฐยุโรป ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี สิ่งเหล่านี้คืออานิสงส์และทุกข์ลาภ ที่ทำให้ชาวยุโรปกลายเป็นคนรอบคอบคิดหน้าคิดหลัง เท่ากับคนที่มองโลกในแง่ร้ายและขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ การรวมตัวของสหภาพยุโรปจึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอเมริกา และมหาอำนาจเอเชีย ภาพประวัติศาสตร์ในแต่ละชนชาติยุโรป ได้สะท้อนถึงความซับซ้อนจากจุดกำเนิด ผ่านคุณค่าและวิถีชีวิตอันแตกต่าง เปรียบดั่งไวน์ที่ชนชาติในยุโรปต่างผลิตขึ้นมา ด้วยความเหมือนที่มีความแตกต่าง เทียบเท่าความต่างในรสชาติไวน์แต่ละท้องถิ่น ที่ล้วนสะท้อนออกมาในความต่างของวิธีคิดแบบฝรั่ง และสิ่งเหล่านี้คือภาพที่สังคมไทยจะสามารถเข้าใจฝรั่งในเชิงลึกได้อย่างถูกต้อง เมื่อเราจำเป็นต้องสัมพันธ์ต่อรองทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยศึกษาถึงบทบาทความเป็นฝรั่ง ในฐานะของ “คน” หรือ “มนุษย์” ที่ว่า คนเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของความเจริญทั้งมวล

บทที่ 2 - ว่าด้วยชนชาติอังกฤษ ฝรั่งผู้ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ( หน้า 20 - 43 )
The Imperturbable British

เนื้อหาบทนี้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของฝรั่งชนชาติอังกฤษ โดยเชื่อมโยงจุดเริ่มวัฒนธรรมสูทดำที่เรียก “ชุดสากล” ว่ามีรากเหง้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ต่อมาเป็นแบบแผนเครื่องแต่งกายมาตรฐานสากล ซึ่งยุโรปหันมาชื่นชมความเป็นตัวตนอังกฤษ ในความหยิ่งผยองเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และเป็นผู้ดีที่แก้ปัญหาอย่างสง่างาม ว่ามีพื้นฐานสำคัญซึ่งยึดถือ “หน้าที่” เป็นตัวชี้นำชีวิต ด้วยความมัธยัสถ์อดทน ตรงต่อเวลา โดยเชื่อกันว่าพวกเขาต่างมีภารกิจยิ่งใหญ่อยู่ในจิตวิญญาณชนชาติตน ที่เชื่อว่า“โลกและคนบนพื้นที่ต่างๆในโลกนี้ จะต้องมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ หากได้รับการฝึกฝนอบรมที่ดีจากพวกเราชาวอังกฤษ” ท่ามกลางความโดดเด่นด้านนวัตกรรมตั้งแต่ริเริ่มระบอบรัฐสภา ออกแบบสร้างรถไฟ สร้างระบบมาตราวัดที่ใช้กันทั่วโลก รวมทั้งสร้างมาตรฐานการเดินเรือ นอกจากคุณค่าในเรื่องนวัตกรรม ฝรั่งอังกฤษยังมีคุณค่าวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของภาษาพูดและวิถีชีวิตที่ถูกชื่นชมถึงภาพลักษณ์สุภาพบุรุษ เท่ากับภาพยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติมหาอำนาจอังกฤษที่มีอาณานิคมมากมาย จนกล่าวกันว่าเป็นอาณาจักรที่ “พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ซึ่งเกิดขึ้นจากความยิ่งใหญ่ทางการทูตและการทหาร ที่ทำให้ชาติอื่นต้องการนำเป็นแบบอย่างและเป็นให้ได้เช่นอังกฤษ ความสามารถพิเศษเหล่านี้ของฝรั่งอังกฤษ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนสุขุมดั่งตัวตนที่ว่า “น้ำนิ่งที่ไหลลึก” ด้วยตัวตนที่พร้อมแสดงออกในยามวิกฤติ เหมือนมีรหัสที่ฝังในตัวคนอังกฤษ โดยเป็นรหัสจากการอบรมสั่งสอน ด้วยความรู้ความเข้าใจถ้าต้องกระทำสิ่งใดเพื่อดินแดนแห่งมาตุภูมิ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า The Seven Ideas ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นแบบคนอังกฤษ ถึงสิ่งที่ควรทำและควรวางตัว ด้วยเหตุสำคัญจากระบบการศึกษาและเลี้ยงดู ซึ่งเป็นหัวใจแห่งวัฒนธรรมฝรั่งอังกฤษ ด้วยค่านิยม Stoics ที่คำนึงถึงสัจจะที่ยอมรับการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง ยอมรับด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว โดยยึด “หน้าที่” เป็นสรณะซึ่งกำหนดการดำเนินชีวิต อันเป็นภูมิธรรมของฝรั่งอังกฤษ ซึ่งพิสูจน์ตัวตนอันแท้จริงแห่งความยิ่งใหญ่ของความเป็นคนอังกฤษที่ยังคงมนต์ขลัง

บทที่ 3 - ว่าด้วยชนชาติเยอรมัน ฝรั่งที่กลายพันธุ์ได้ทุกเมื่อ ( หน้า 44 – 65)
The Mutable Germans

บทนี้กล่าวถึงฝรั่งชาติเยอรมัน ว่าเป็นชนชาติผลิตนักปราชญ์ คีตกวีอัจฉริยะจำนวนมาก จนสามารถสร้างชาติเป็นปึกแผ่น กล่าวกันว่าในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา อนาคตของยุโรปมักอยู่ภายใต้พฤติกรรมชาติเยอรมัน จนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองโลก ว่าทำไมฝรั่งชาตินี้จึงมุ่งมั่นสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ จนตัดสินใจทำสงครามโลกกระทั่งจบด้วยความพ่ายแพ้ แต่ถึงจะแพ้สงครามเยอรมันก็กลับมากุมชะตากรรมยุโรป และของโลกอีกครั้งหนึ่ง อิทธิพลของเยอรมันจึงมีผลต่อยุโรป การเข้าใจฝรั่งชาติเยอรมันจึงถือเป็นการเข้าใจอนาคตยุโรป เพราะอิทธิพลในฐานะแหล่งผลิตผลงานศิลปวัฒนธรรมและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเสาหลักแห่งวัฒนธรรมตะวันตกยุคใหม่นั้น เกิดจากอุปนิสัยคนเยอรมันที่พูดจริงทำจริงมีวินัยอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อบรรลุเป้าหมาย สะท้อนตัวตนการปฏิบัติหน้าที่ประดุจธรรมะในการดำเนินชีวิต เมื่อได้เชื่อมั่นสิ่งใดก็จะไม่คลอนแคลน นับเป็นความขัดแย้งของชนชาติที่พร้อมก่อสงครามแห่งความรุนแรงท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าอำนาจ ซึ่งเยอรมันสร้างเพื่อเกิดความฮึกเหิมในชาติ ภาพสะท้อนของฝรั่งเยอรมัน ที่ส่งผลต่อตัวตนคนเยอรมัน ได้สรุปผ่านคำกล่าวของนักปราชญ์นิชเช่ ถึงตัวตนฝรั่งชาติเยอรมันว่า “จิตใจของคนเยอรมันนั้น เปรียบเสมือนห้องหลายห้องที่เปิดหากันได้ เมื่อเจอห้องหนึ่งก็สามารถข้ามไปเจออีกห้องหนึ่งได้ และนอกจากจะเจอห้องเหล่านั้นแล้ว บางทีก็ไปเจอถ้ำและถ้ำใต้ดินซ้อนเข้าไปอีก โดยที่ความไร้ระเบียบนี้เต็มไปด้วยความน่าฉงนสนเท่ห์” และจากความลึกลับที่หยั่งไม่ถึงนี้เอง ที่มักทำให้เยอรมันมีเส้นทางซ่อนเร้นที่มักนำไปสู่ความโกลาหล ประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้คือภาพสะท้อนอุปนิสัยฝรั่งเยอรมัน ในฐานะชาติที่สามารถแปรเปลี่ยนได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อพบว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ในอุปนิสัยของชาวเยอรมันนั้น มักมีสิ่งที่ซ้อนเร้นในใจเสมอ

บทที่ 4 - ว่าด้วยชนชาติฝรั่งเศส ฝรั่งที่ชอบวิวาท ( หน้า 66 – 83)
The Quarrelsome French

บทนี้กล่าวถึงชนชาติฝรั่งที่ภาคภูมิใจ ในฐานะผู้ผลิตความคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่ และแหล่งผลิตนักปฏิวัติชั้นนำของโลก ฝรั่งเศสคือฝรั่งที่ชอบพูดว่าตัวเองคือผู้นำยุโรป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15–18 ฝรั่งเศสถือเป็นประชาชาติที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ก้าวหน้าด้านวรรณกรรมวิทยาการ มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่บ่มเพาะปัญญาชน ภาษาฝรั่งเศสเคยถือเป็นภาษาพูดในราชสำนักของชาติต่างๆในยุโรป รวมทั้งความเป็นต้นทางอารยธรรมสังคมตะวันตก ด้วยเครื่องแต่งกายและอาหารการกิน รวมทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นส่วนหนึ่งในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ บทเชื่อมเนื้อหาสำคัญคือสะท้อนภาพฝรั่งที่ถือว่าตนเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรือง ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตนที่เกิดจากอัตตาแห่งชาวฝรั่งเศส อันมาจากอุปทานในอดีต จากความยิ่งใหญ่แห่งกองทัพฝรั่งเศส ความภาคภูมิใจในอดีตคือบทเรียนราคาแพงในสงครามโลกที่เกิดจากความทระนงจนเกินไป และเกิดจากอุปนิสัยที่ชอบเถียงชอบวิวาท ด้วยอุปนิสัยของฝรั่งชาตินี้ที่มีคนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน และรบรากันอยู่เสมอ จนกระทั่งปัจจุบันที่สภาพความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ ลักษณะการหวงแหนความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง ทำให้คนฝรั่งเศสไม่ยอมทิ้งอุปทาน ไม่ประนีประนอม และไม่ยอมลงให้กับใคร คือต้นทุนที่ปัจจุบันฝรั่งเศสยังคงต้องแบกภาระแห่งความเป็นผู้นำยุโรปในอดีตไว้ ท่ามกลางภาวะความรู้สึกเพื่อการวิวาทกับตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดไป

บทที่ 5 - ว่าด้วยชนชาติอิตาเลียน ฝรั่งที่ชอบพลิกแพลง ( หน้า 84 – 113)
The Flexible Italians

บทนี้กล่าวถึงชาติฝรั่งรักสนุกที่มีความเป็นศิลปิน ที่คนส่วนมากมองชาวอิตาเลียนว่าเล่ห์เพทุบาย อันนับเป็นอคติที่ผู้คนมองฝรั่งชาตินี้ ด้วยตัวตนของฝรั่งที่ยากต่อการนิยาม ไม่สามารถกำหนดบรรทัดฐาน เพื่อทำนายพฤติกรรมในอนาคตของฝรั่งชาตินี้ได้ ด้านหนึ่งตัวตนอิตาลีก็ถือเป็นฝรั่งที่มีความสามารถ แต่มีจุดยืนและหลักการที่แปรเปลี่ยนได้ตลอด ขณะที่ฝรั่งชาตินี้มองข้อสรุปชาวต่างชาติ ว่าเป็นเรื่องความไม่อดทนอดกลั้นต่อภาพลักษณ์สรวลเสเฮฮาไร้แก่นสาร ไม่มีระเบียบวินัย เสพสุขจนเหลือคณา แต่ฝรั่งอิตาลีกลับรู้สึกถึงความทุกข์เข็ญใจ ซึ่งสั่งสมมานานนับร้อยปีที่ใฝ่ฝันถึงรัฐอันเที่ยงธรรมยุติธรรมเข้มแข็งพ้นภัยจากศัตรู ท่ามกลางความภูมิใจและศักดิ์ศรี การเข้าใจความคิดและจิตเบื้องลึกของฝรั่งอิตาลี จำต้องเข้าใจความแปลกแยก ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าอิตาลีเลือกเวลาที่จะต่อสู้ จะสู้ก็ต่อเมื่อต้องสู้อย่างมีวินัยมีประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งอิตาลีถือเป็นชนชาติที่ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นด้วยความโกลาหลเสมอ แต่ความวุ่นวายกลับมิได้ทำให้ความสามารถ ในการผลิตการสร้างสรรค์นวัตกรรมลดลง นับเป็นความมั่งคั่งในสังคมอิตาลีที่ประสบความสำเร็จ เป็นการปรับตัวในเชิงวัฒนธรรมท่ามกลางความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแรงงาน ประเด็นสำคัญของฝรั่งชาตินี้ คือความสามารถในการจัดการกับ Public lie, Private truth อันสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชีวิตสองมาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจฝรั่งที่เลือกไว้วางใจพรรคพวกเดียวกัน หรือเครือญาติด้วยความจริงและสัจจะในโลกส่วนตัว มากกว่าความจริงในกฎหมาย ชนชาติอิตาลีถือเป็นฝรั่งที่ปรับตัวกับความทันสมัยได้น้อยที่สุด เป็นชาติโบราณที่มีวัฒนธรรมมากว่าพันปี ด้วยความเชื่อและคุณค่าที่สืบทอดกันมา อิตาลีจึงเป็นชาติที่ยึดติดในความยิ่งใหญ่ของอดีต ท่ามกลางความขัดแย้งด้วยอุดมการณ์อันแตกต่างที่ได้สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้น ปัญญาชนชั้นนำของอิตาลีกล่าวว่า อิตาลีชอบแลไปข้างหลังถึงความยิ่งใหญ่ของตัวในอดีต การรวมตัวสู่ความเป็นสหรัฐยุโรป อาจเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ฝันร้ายของตนเองในความเป็นประชาชาติ ที่ยังต้องปรับตัวเพื่อพิสูจน์ความเป็นชนชาติที่ทรงประสิทธิภาพและหลักแหลม ที่สามารถเข้าร่วมแก้ปัญหาของยุโรปและของโลกได้

บทที่ 6 - ว่าด้วยชนชาติวิลันดา ฝรั่งผู้แยบยล ( หน้า 114 – 123)
The Careful Dutch

บทนี้กล่าวถึงชาติฝรั่งซึ่งเป็นต้นแบบการรวมเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ที่พยายามเชื่อมโยงด้วยแนวคิดเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะยับยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของสงครามได้ เมื่อทุกประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน จากพื้นฐานซึ่งสามารถนำรัฐสวัสดิการและระบบทุนนิยมให้วิ่งควบคู่กันไปได้อย่างสมานฉันท์ รูปธรรมสำคัญเพื่อประสานผลประโยชน์ร่วมกัน คือความโดดเด่นของฝรั่งชาตินี้ที่มีสำนึกร่วมอุดมคติ และคุณค่าต่อผืนแผ่นดินตนเองและต่อยุโรป ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการรวมยุโรปอันเป็นผลจากสงครามโลก ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่วิลันดา ทำให้กลายเป็นฝรั่งที่ระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตัวสูง ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ที่เคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศส สเปน ออสเตรีย รวมทั้งศาสนจักรโรมันคาทอลิก การหล่อหลอมจากบทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานในสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะเห็นยุโรปมีสันติภาพ คือเหตุผลสำคัญในการดำรงอยู่ของชนชาติตนเองมากกว่าเหตุผลทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมและทักษะของภาษาพูดที่หลากหลาย ทำให้ฝรั่งวิลันดาภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่หลากหลายทางวัฒนธรรม หล่อหลอมด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม ฝรั่งวิลันดาปลูกฝังความเชี่ยวชาญด้านกสิกรรมกับจิตวิญญาณแห่งนักเดินเรือชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่ยุคกลาง ด้วยความโดดเด่นในฐานะชนชาติพ่อค้าทางทะเลคือความยิ่งใหญ่ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ในด้านหนึ่งฝรั่งชาติวิลันดามีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ความขยัน ขณะเดียวกันพร้อมสำหรับการเปิดกว้าง ซึ่งรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ด้วยพื้นฐานสำคัญซึ่งหล่อหลอมบุคลิกภาพของฝรั่งวิลันดา ส่งผลต่อความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตพร้อมกับตัวตนของชีวิตที่ไม่มั่นคง ทำให้เป็นฝรั่งชาตินักร่างสัญญา และดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมของสนธิสัญญา ที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเชื่อมั่นและยึดมั่นต่อหลักศาสนามาสู่สนธิสัญญาแทนที่ ความศรัทธาต่อสนธิสัญญาใหม่จึงสะท้อนออกมาเสมอ สำหรับความเชื่อมั่นในการรวมตัวของชาติยุโรป

บทที่ 7 - ว่าด้วยชนชาติอเมริกัน ฝรั่งที่ใครก็คาดเดาไม่ถูก ( หน้า 124 – 135)
The Baffling Americans

บทนี้กล่าวถึงชนชาติฝรั่งมหาอำนาจที่ตัดสินและกำหนดชะตากรรมของโลก นับตั้งแต่การจัดระเบียบโลกใหม่ ด้วยความยิ่งใหญ่ด้านวิทยาการสูงสุด ทั้งวิทยาศาสตร์ การทหาร การเงิน การสื่อสาร และอิทธิพลทางความคิด ที่ชนชาติในยุโรปไม่เพียงเฝ้ามองแต่ยังต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ความยิ่งใหญ่ ความชื่นชมที่ฝรั่งยุโรปมีต่ออเมริกา คือ “ความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน” ที่เริ่มต้นการก่อกำเนิดและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ นับเป็นความชื่นชมพึงพอใจท่ามกลางความไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจ ถึงพฤติกรรมและอารมณ์อันไม่คงที่ของอเมริกา ที่ยากต่อการคาดการณ์ และยากต่อการคาดเดา เฮนรี คิสซิงเจอร์ เคยกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของอเมริกา มักเป็นแบบดำว่ายดำผุด หรืออยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยความปิติ สลับกับสภาวะที่เศร้าหมอง หรือบางทีก็เป็นแบบกระต่ายตื่นตูม ชนชาติที่ประเมินได้ยากเช่นอเมริกา จึงเป็นหนึ่งในการคำถามของฝรั่งชาติอื่นเสมอ ตัวตนฝรั่งอเมริกามีเรื่องราวของความเป็นนักปฏิบัติ ที่มีสองภาคในตัวตนเดียวกัน ในความหมายของภาคที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ แต่ในความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่นั้น ยังส่งผลต่อภาคความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงมากเกินไป คุณค่าท่ามกลางเรื่องราวของชนชาตินักประดิษฐ์ ที่สามารถมองถึงคุณูปการท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของผลงานการประดิษฐ์ ซึ่งกลับพบว่า อเมริกาเป็นชาติที่มีรูปแบบและรูปธรรมของความไม่อดทน จากสิ่งประดิษฐ์มากมายอันสะท้อนถึงความไม่อดทนนี้ กลับเป็นอุปนิสัยที่แท้จริงของฝรั่งชาติอเมริกา ที่ชาติยุโรปต่างพากันกังวลมาตลอด ท่ามกลางผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายบางอย่างในความไม่อดทนของอเมริกา คือสัญญาณที่บ่งบอก ถึงเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่ฝรั่งชนชาติอื่นต้องจับตามองตลอดเวลา จากแนวนโยบายและตัวตนที่กลับไปกลับมาของอเมริกา

บทที่ 8 - สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ : ว่าด้วยยิว (หน้า 136-149)

เนื้อหาบทนี้มาจากบทสัมภาษณ์ ในตัวตนฝรั่งชนชาติยิว เชื้อชาติที่กระจายอยู่ในแต่ละประชาชาติฝรั่ง ซึ่งมีบทบาทต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งมีอิทธิพลทางการเมืองต่อประชาชาติฝรั่งต่างๆ ในฐานะฝรั่งที่กุมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไว้ในกลุ่มเชื้อชาติตน โดยย้อนไปถึงต้นกำเนิดทางเชื้อชาติ จากพื้นฐานความขัดแย้งดั้งเดิม ที่แบ่งแยกความเป็นศาสนายูดายหรือศาสนายิว ออกจากศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม โดยแนวคิดนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวยิว เชื่อมั่นตามบทพระบัญญัติว่า ตนคือคนพิเศษที่พระเจ้าเลือก ท่ามกลางความขัดแย้งของแนวคิดทางศาสนา ที่ทำให้ยิวต้องต่อสู้ต่อการถูกดูดกลืนทางเชื้อชาติ ตลอดระยะเวลานับพันปี ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของความกดดัน ซึ่งสร้างให้ฝรั่งเชื้อชาติยิวมีความเป็นเลิศในโลกยุคปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมและองค์ความรู้ทางปัญญา สร้างสรรค์กลไกเศรษฐกิจการเงินของโลกปัจจุบัน รวมทั้งการตัดสินใจต่ออนาคตและชะตากรรมของโลก ด้วยอำนาจของทุนและเงินในกลุ่มเชื้อชาติยิว มุมมองความโดดเด่นของนักคิดนักปรัชญาเมธีชาติยิว ซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดชะตากรรมของโลก คือประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะแนวคิดทฤษฎีหรือการเข้าไปมีบทบาทในด้านองค์ความรู้ของประชาชาติฝรั่งต่างๆ ในสถาบันการศึกษาระดับสูง หรือกำหนดองค์ความรู้วิชาการให้กับฝรั่งชาติอื่นๆ อิทธิพลทางความคิดและทางวิชาการของฝรั่งชาติยิว คือหนึ่งในฐานรากสำคัญทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของฝรั่งชาติต่างๆ เท่ากับการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการต่างประเทศ ให้กับฝรั่งเชื้อชาติอื่นๆ เพื่อนำไปสู่บทบาทและข้อสรุปอื่นในอนาคต

บทที่ 9 - พันศักดิ์ วิญญรัตน์ : คำอธิบาย (หน้า 150 - 159)

บทนี้เปิดตัวด้วยข้อเขียนของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2515 ซึ่งปรับปรุงจากข้อเขียนของ อิชิโร คาวาซากิ อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ด้วยมุมมองถึงโครงสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้โครงสร้างของ ไซบัตซุ ที่มีการรวมตัวของนักการเมือง และนักธุรกิจขนาดใหญ่ ปรากฏตัวในรูปการค้าระหว่างประเทศหรือการทูต ซึ่งเอื้อต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ภายใต้การขนานนามวิธีการทูตของญี่ปุ่นว่าเป็นการฑูตเพื่อเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงตระกูลใหญ่สามตระกูล ที่ประกอบด้วย มิตซุย มิตซุบิชิ ซุมิโตโม ซึ่งกุมนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่องยาวนาน ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และอำนาจทางการเมืองที่สำคัญของญี่ปุ่น ล้วนเป็นไปภายใต้การต่อรอง ในรูปแบบของตัวแทนทางการเมืองที่เป็นตัวแทนในสภา ภายใต้สภาพที่เรียกว่า กลุ่มกดดันที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโต สนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของประเทศเติบโต รวมทั้งการเชื่อมโยงรูปแบบการคอร์รัปชั่นทางการเมืองของญี่ปุ่น ว่าเกิดขึ้นจากประเพณีอันเก่าแก่ของสังคมญี่ปุ่น ที่นับถือประเพณี พี่ๆน้องๆ ในระบบการเมืองญี่ปุ่น ที่ทำให้นักการเมืองในท้องถิ่น สามารถเชื่อมโยงเอื้ออำนวยให้เกิดการประสานประโยชน์ จนกล่าวว่าระบบการเมืองของญี่ปุ่นเป็นระบบตายด้าน และหาลักษณะผู้นำมิได้ เนื่องจากการประสานประโยชน์ในเชิงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าการมุ่งเน้นอุดมคติทางการเมือง

บทสรุป
เรื่องราวบทวิเคราะห์เพื่ออธิบายตัวตนของฝรั่งในแต่ชนชาติ ถึงความแตกต่างที่แฝงอยู่ในแต่ละประชาชาติฝรั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดวิธีคิด วิธีตัดสินใจ และการพิจารณาคัดเลือกนโยบายระหว่างประเทศ ที่จะมีผลกระทบต่อสังคมโลก โดยอธิบายเรื่องราวจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ แนวคิดทางวัฒนธรรม และบทเรียนของแต่ละประชาชาติฝรั่ง ว่ามิได้เหมือนหรือคิดในทิศทางเดียวกันทั้งหมด หากแต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดบางอย่าง ท่ามกลางแรงผลักดันหนึ่งเดียวของอนาคตทุนนิยม เมื่อโลกทุนนิยมกำลังก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการแข่งขัน และการต่อสู้ในเชิงของทุนข้ามชาติ ข้ามรัฐ ความเข้าใจต่อตัวตนที่แท้จริงของแต่ละประชาชาติ คือกุญแจสำคัญในการลำดับความสนใจ และวิธีเข้าใจประชาชาติฝรั่ง ที่ถือเป็นผู้เล่นหลักในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงช่วงเวลาในการบริหารวิกฤติทางเศรษฐกิจที่อาจขึ้นได้อยู่เสมอ มิติทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของประชาชาติฝรั่ง คือเนื้อหาที่หนังสือเล่มนี้พยายามเรียบเรียงอธิบาย เพื่อลำดับความให้เห็น ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากพิจารณาอดีตของตัวตนฝรั่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่าคิดคำนึงและใคร่ครวญสู่การตัดสินใจเช่นไร หากจะต้องกำหนดความเป็นไปของอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางความเป็นไปของโลกในอนาคต ซึ่งกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของประชาชาติไทย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ
ปีที่พิมพ์ : กุมภาพันธ์ 2546
ชื่อหนังสือ : ฝรั่ง
ประเภท : สารคดี - บทวิเคราะห์
ชื่อผู้เรียบเรียง : สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พิมพ์ที่ : นำอักษรการพิมพ์

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ
สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ฝรั่ง.- - กรุงเทพฯ : แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป, 2546
160 หน้า
1.ชาวต่างประเทศ.-2.ชนต่างชาติ I. ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ผู้แต่งรวม
II.ชื่อเรื่อง
305.3069
ISBN 974-90937-4-7

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ

ประวัติ

สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
สื่อมวลชนที่มีประสบการณ์ในด้านมุมมองทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันทำหน้าที่สื่อทางสังคม ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้จัดการ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและมุมมองใหม่ทางความคิด ผ่านการถ่ายทอดสู่สังคมไทยด้วยการจัดทำหนังสือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
อดีตนักการธนาคาร ผู้มีแนวคิดและความเชื่อมั่นในเรื่องความเข้าใจและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของทุนในระดับโลก รวมทั้งสนใจการพัฒนาองค์ความรู้ และการถ่ายทอดทางปัญญา จึงพัฒนาความคิดสู่การทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยในปัจจุบันเป็นเจ้าของนิตยสาร Corporate Thailand นิตยสาร MBA และสื่อรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดการ และบริหารทุน ผสมผสานกับมุมมองของแนวคิดสมัยใหม่ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย

No comments: