Sunday, April 1, 2007

ผลัดแผ่นดิน

ผลัดแผ่นดิน

คติ มุธุขันธ์

17 มีนาคม 2550

เมื่อวันคืนบอกกล่าวให้เรารู้ว่า
เมื่อคราวน้ำเปลี่ยนสาย ลมเปลี่ยนทิศ
และแผ่นดินเปลี่ยนผู้ครอง
รอยไห้อันเจ็บปวด ย่อมบังเกิดขึ้น

การกล่าวต่อเนื่องติดต่อกันเช่นนี้ดูเหมือนจะมีนัยยะว่าแผ่นดินย่อมว่างกษัตริย์ไม่ได้ เพราะการเว้นว่างนั้นอาจนำไปสู่ความเสียหายวุ่นวายต่อบ้านเมือง

แต่ปัญหา "สุญญากาศ" ของกษัตริย์อาจไม่ได้หมายความเพียงแค่ช่วงเวลาขณะผลัดเปลี่ยนกษัตริย์พระองค์เก่ากับพระองค์ใหม่เท่านั้น ปัญหาของช่องว่างนี้เริ่มตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์เดิมแสดงพระอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เห็นว่ารัชสมัยใกล้จะสิ้นลงแล้ว ก็สามารถเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ขึ้นได้ ช่วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดินนี้เอง จึงเป็น "ความว่าง" ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายที่มีผลต่อราษฎร ขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนกระทั่งแผ่นดินทั้งแผ่นดินเช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาของการผลัดแผ่นดินบางคราว ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง การทำสงครามกลางเมือง การลอบสังหาร การฆ่าล้างแค้น แม้กระทั่งการฆ่าล้างครัว ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดการผลัดแผ่นดินทั้งสิ้น ๘ ครั้ง

มีบางครั้งที่สงบเรียบร้อย บางครั้งอาจจะขัดแย้ง แต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเป็นเพียงครั้งเดียวที่เรียกได้ว่า เกิดกบฏชิงราชบัลลังก์เหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้จะมีความเรียบร้อยแต่ก็ใช่ว่าทุกครั้งจะ "ราบเรียบ" หรือเป็นไปอย่างรอมชอมทั้งหมด ตรงกันข้ามการผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งล้วนแต่มี "เงื่อนไข" ที่พ่วงติดมาด้วยทุกครั้ง เงื่อนไขเหล่านี้เอง ทำให้การผลัดแผ่นดินแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า

ใครจะได้เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป และใครที่พลาดบัลลังก์อันสูงสุดนี้
บทขึ้นต้นที่น่าสนใจสำหรับยุคสมัยนี้ ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และท่ามกลางความหวาดระแวง ภายใต้นิยามของขั้วอำนาจเก่า และคลื่นใต้น้ำ จากทั้งอดีตรัฐบาลและผู้สนับสนุนในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์สนุกสนาน หรือเรื่องถกเถียงตามวงกาแฟการเมืองเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้ กลับสะท้อนความเจ็บปวดของแผ่นดินไว้อย่างเยือกเย็น เสียวถึงกระดูกสันหลัง

เมื่อเรามีโอกาสย้อนมองวันเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์รัฐสยาม ข้อความข้างต้นที่ปรากฏขึ้นนั้น ปรามินทร์ เครือทอง เขียนไว้ในนามบทขึ้นต้นของเรื่องจากปก ในงานเขียนเดือนมิถุนายน 2549 ของสำนักศิลปวัฒนธรรม ถึงคราวแห่งความเปลี่ยนแปลงในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้โลกทรรศน์แบบจักรวาลวิทยา ที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ ในแต่ละความหมายของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนมีเรื่องราวแห่งการประหัตประหาร และตัดคอผู้คนไปมิใช่น้อย

แต่ใช่ว่าเมื่อเราเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยอนุสติ จนสามารถย้อนกลับมาทบทวนต่อความจริงในทุกวันนี้ ว่าทำเช่นไร เราจึงจะไม่ย้อนวันกลับหากลียุค วันคืนในปัจจุบัน ท่ามกลางวาระซ่อนเร้นของรัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่พยายามไล่ต้อนพื้นที่ทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณ ทั้งในเชิงอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม หรือกระทั่งไล่ล่าพื้นที่แห่งการดำรงอยู่ของผู้คนที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ความหมายที่ย้อนรอยแทบไม่แตกต่างกันนี้ สร้างให้เราสะท้อนใจได้ไม่ยากนักว่า วันนี้เรากำลังประหัตประหารผู้คน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ

วันนี้ในบ้านเมืองของเรา เมืองไทยที่มีรอยยิ้ม กำลังมีการฆ่าฟันผู้คนในทางพื้นที่ทางความคิด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะภาพสะท้อนจากงานเขียนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานศึกษาเรื่องการเมืองสมัยพระนารายณ์ และงานเขียนของพระเจ้าตาก ต่างระบุยืนยันถึงความอ่อนแอที่สำคัญยิ่งของกรุงอโยธยา ว่าการผลัดแผ่นดินที่เกิดขึ้น จากทั้งเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หรือขุนศึกที่ขึ้นมาครองความเป็นเจ้า ได้สร้างความอ่อนแออย่างปฏิเสธไม่ได้ การฆ่าฟันผู้คนที่เคยเป็นผู้จงรักภักดีต่อเจ้าผู้ครองแผ่นดินเดิม เป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้เกิดความอ่อนแอในกาลต่อมา

กรณีการลากคอข้าราชบริพาธ ทั้งชาวสยาม และชาวต่างชาติ ในยุคหลังสมเด็จพระนารายณ์ รวมทั้งการปิดประเทศไม่ข้องแวะ ไม่คบค้า ทั้งทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ศิลปะวิทยาการ หรือกระทั่งการไม่คบกับฝรั่งดั้งขอ เจ๊กจีน ยุ่นปี่ ก็คือส่วนสำคัญที่ทำให้เราระลึกถึงรอยหยักของประวัติศาสตร์ที่ยับย่น อย่างที่เราไม่อาจปฏิเสธไปได้ ความหวาดระแวงอันเกิดจากความกลัว ว่าผู้คนเหล่านี้จะรวมตัวกัน เพื่อกลับมาโค่นแผ่นดิน พลิกแผ่นดินเหมือนพลิกดินหน้าเดิม ให้กลับมาเรืองอำนาจนั้น คือโจทย์ที่ฝังใจคนมาใหม่ ให้จำต้องกระทำอำมหิตกับผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน

ไม่แปลกใจนัก หากเราจะได้เห็นแขกต่างบ้าน ผู้คนต่างเมือง ยาตราเข้ามารับสนองงานในแผ่นดินใหม่ ก็ในเมื่อเหตุผลหลักที่ยากปฏิเสธ เมื่อหันไปทางใดก็ไร้คนมีฝีมือ ผู้มีปัญญาที่พอจะไหว้วานให้สนองคุณแผ่นดินได้ ในเมื่อกุดหัวตัดคอไปจนสิ้น ไม่นับญาติติโกโหติกาหลายสาแหรก ที่นอนนิ่งในหลุมเพียงเพราะมีสายเลือดเดียวกับยุครุ่นเรืองในแผ่นดินก่อน

ความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ในวันนี้ เมื่อเรามีโอกาสเห็นความจริง จากการกุดหัวผู้คนทางอัตลักษณ์ ตัดพื้นที่ของชีวิตพวกเขา ด้วยการขุดคดีความอันมิชอบ ขุดความเลวร้ายที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง เอาขึ้นมาปะหน้าผากและจับตัดหัวในโลกสมัยใหม่ จนคนมีปัญญามีฝีมือ ที่บางครั้งก็ไม่ได้น้อมตัวน้อมใจไปรับใช้ระบอบทักษิณอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู จำต้องหลบหน้าหนีให้พ้นจากภัย อันเกิดจากวาระซ่อนเร้นในวันนี้

ความสำคัญของประวัติศาสตร์ ไม่เพียงทำให้เรามองเห็นรอยเท้าในปลักเท่านั้น แต่น้ำที่นองในปลักเมื่อเวลาผ่านไป ที่นำให้ตะกอนนิ่งตัว น้ำในรอยเท้าใสขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เราส่องใบหน้า มองเงาหูเงาหัวได้ชัดเจน โดยไม่ต้องตักใส่กะโหลกให้เจ็บใจเท่านั้น

การมองเห็นตัวเราจากภาพของอดีต คือสิ่งที่เราควรจะนำมาใช้ในวันนี้ หากเราจะต้องเข้าใจผู้คนในประเทศนี้บ้าง การแยกแยะระหว่างผู้คน การมองให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีประโยชน์ มีปัญญา มีความสามารถเพียงพอที่จะนำกลับมาเติมเต็มการพัฒนาประเทศให้วัฒนานั้น ไม่ใช่เพียงการพูดต่อสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังต้องมองถึงการปฏิบัติในทุกวันนี้ด้วย

การไล่ต้อนผู้คนที่มีความสามารถ และไม่ได้ฝักฝ่ายกับระบอบทักษิณให้ต้องตกแผ่นดิน หรือฝังตัวตนของเขาทางสังคมไว้ในพื้นที่ ก็คือจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังยุคเสื่อมแห่งแผ่นดินนี้ ที่ไม่ต่างจากรอยอดีตสักเท่าใดนัก

ขึ้นโขนชิงธง

ขึ้นโขนชิงธง

คติ มุธุขันธ์

4 พฤศจิกายน 2549

ภาพสะท้อนทางวัฒนธรรมแนววิพากษ์ มักสวนทางกับภาพงดงามรังสรรค์เสมอ หนึ่งในเนื้อหาของวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มักเป็นตัวตั้งในการมองหาคู่ถกเถียงอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจำเป็นที่ต้องอ้างอิงภาพโรแมนติคงดงาม ซึ่งฉายผ่านสังคมไทยอันอบอุ่นในอดีต โดยหลายครั้งกลับกลายเป็นมุมมองความเชื่อด้านเดียว เป็นต้นเรื่องในการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมไทยได้อีกยาวนาน ว่าการมองวัฒนธรรมแบบหยุดนิ่งตายตัว คือเสน่ห์ที่น่าตั้งคำถามอย่างสนุกสนาน หนึ่งในงานศึกษาความหมายของวัฒนธรรม จากการเขียนวรรณกรรมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย มีเรื่องราวหนึ่งในวัฒนธรรมของลำน้ำหลังสวน ซึ่งปรากฏเสน่ห์ที่น่าค้นหา เมื่อมีเนื้อหาที่เขียนถึงงานแข่งเรือของชาวหลังสวน จังหวัดชุมพร

ว่า การแข่งขันเรือยาวของอำเภอหลังสวน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2387 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีการแข่งขันเรือยาวของหลังสวนเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี ในวันออกพรรษานี้ ชาวพุทธ จะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดจากความเชื่อที่ว่า ในวันอันสมมตินี้เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดสัตว์โลก ซึ่งในสมัยนี้ก็คงจะใช้เรือเป็นพาหนะ เสร็จจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้วก็สนุกสนานด้วยการพายเรือแข่งขัน การแข่งขันเรือยาวของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นการแข่งขัน ที่ตื่นเต้นเร้าใจ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรือที่ครองความชนะเลิศนอกจากจะมาจากความพร้อมเพรียง ของฝีพายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของ นายหัวเรือ และนายท้ายเรือ อีกด้วย นายท้ายเรือจะต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อให้นายหัวเรือ ขึ้นโขนชิงธง ที่ทุ่นเส้นชัย แม้ว่าเรือลำใดจะนำหน้าอยู่ก็ตาม หากนายหัวขึ้นโขน ยาว 7 ศอก กว้าง 10 นิ้วแล้วคว้าธงผิด หรือคว้าธงได้แต่ตกน้ำ หรือเรือล่มก่อนที่นายท้ายเรือ จะพ้นปากกระบอกธงชัยก็จะถือเป็นแพ้ ความเร็วของเรือจึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดความเป็นผู้ชนะแต่อย่างใด นายหัวเรือจะต้องกะจังหวะขึ้นโขน และจะต้องขึ้นไปให้สุดปลายโขน เพื่อความได้เปรียบในการจับธงนายหัวเรือลำใดจับธงได้ เรือลำนั้นจะชนะในเที่ยวนั้น การขึ้นโขนชิงธงจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่หาดูได้เฉพาะสนามแข่งเรือ ณ แม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

เอกสารแนะนำเนื้อหาการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร ในข้อมูลที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยแพร่ ไม่ใช่เพียงเนื้อหาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ภาพสะท้อนจากเรื่องราวของการแข่งเรือ ของแม่น้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร ที่เด้งขึ้นมาจากวรรณกรรมอันงดงาม มาสู่คำถามของความจริง ที่กลับกลายเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นอันโดดเด่น ซึ่งท้องถิ่นอื่นไม่ปรากฏรูปแบบทางวัฒนธรรมเช่นนี้

ตามปกติของการแข่งเรือพายทั่วประเทศไทย ในแต่ละท้องถิ่น มักเกิดขึ้นท่ามกลางความจำเป็นทางวัฒนธรรม เมื่อน้ำในลำน้ำไหลหลากมากมายพอต่อการแข่งขัน เมื่อเทศกาลทางศาสนาบรรจบกับความพร้อมเพรียงของชีวิตเกษตรกร นาฬิกาชีวิตของผู้คนจึงสรรค์สร้างวัฒนธรรม และเติมประเพณีของชีวิตในแต่ละชุมชน เช่นเดียวกับความหมายของงานบันเทิงรื่นเริงในสังคมเกษตรกรรม ซึ่งอาจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ศึกษาพบว่า เทศกาลรื่นเริงแบบไม่จำกัดวันเวลาในสังคมไทย เกิดขึ้นภายหลังความเปลี่ยนแปลงทางแรงงานและสังคม เมื่อชุมชนตลาดเริ่มต้นเกิดขึ้นตามคุ้งน้ำ โดยเฉพาะแยกทางน้ำที่ลำคลองหรือลำน้ำหลายสายบรรจบกัน มักปรากฏตลาดขนาดใหญ่ขึ้น

ขณะที่ความหมายของงานรื่นเริงในสังคมเดิมของชุมชนเกษตรกรรมไทยในอดีต ล้วนถูกกำหนดขึ้นจาก ความสำคัญของงานบุญทางศาสนาแทบทั้งสิ้น ซึ่งหากนับครั้งของงานรื่นเริงที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านผิดศีลห้าข้อ จะพบว่ามีจำนวนครั้งที่น้อยมากเมื่อเทียบกับวันเวลาในแต่ละปี ความเปลี่ยนแปลงของคุ้งน้ำเมืองสยาม เกิดขึ้นพร้อมการปรากฏตัวของตลาดริมน้ำ จากท่าเรือและเรือนแพซึ่งเดิมเป็นสีสันของลำน้ำ ถูกเพิ่มเติมด้วยห้องแถวไม้ ศาลเจ้าจีน และโรงฝิ่นทั้งหลาย ทั้งหมดล้วนมาพร้อมกับเจ้าภาษีนายอากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของแรงงานอิสระชาวจีน ที่ยืนขึ้นมาแทนแรงงานไพร่ทาสไทย โดยผูกพันไว้กับนายแต่ละคุ้มวังหรือแต่ละบ้าน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือคำตอบของเรื่องราวของชีวิตริมน้ำไทย ที่เปลี่ยนไปพร้อมกับความหมายของชีวิต

การไล่ลำดับจุดกำเนิดของงานแข่งเรือพายแห่งลำน้ำหลังสวน ไม่ใช่เพียงการการคุ้ยเรื่องราวของอดีตมาผลิตซ้ำเพื่อนำเสนอใหม่ หรือไม่ใช่เพียงเนื้อหาของชีวิตชาวพุทธริมน้ำ กับงานรื่นเริงของชุมชนคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำความหมายอันหลากหลาย ของวิถีชีวิตผู้คนบนผืนแผ่นดินนี้

ท่ามกลางความพยายามในหลายๆครั้ง ที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ของคนไทยให้คล้ายคลึงและเหมือนกันไปหมด ทั้งด้วยคำอธิบายถึงวิธีคิด วิถีชีวิต และศรัทธาความเชื่อของชุมชน ความเชื่อดั้งเดิมของวัฒนธรรมเรือในสังคมเกษตรกรรม มักกล่าวอ้างถึงมงคลของเรือแต่ละลำ โดยเฉพาะการอ้างอิงแม่ย่านางเรือ ซึ่งปรากฏว่ามีการกราบไหว้บูชา จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันของงานบุญในหลายครั้งของเทศกาล แต่สิ่งที่ปรากฏพร้อมประเพณีขึ้นโขนชิงธง กลับกลายเป็นเรื่องราวที่ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์พื้นฐานว่ามงคลที่หัวเรือ หรือมงคลซึ่งอยู่ที่โขนเรือ ทำไมจึงสามารถเหยียบได้

กฎเกณฑ์เฉพาะถิ่นของการขึ้นโขนชิงธง อาจสะท้อนภาพของความจริง ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม และการค้นหาความจริงในแต่การแข่งขันในชุมชนชนบทถิ่นหลังสวน อย่างน้อยก็ต้องรู้ดำรู้แดงพอที่จะไม่กลับมาแข่งกันใหม่อีกรอบ ที่ไม่นับกับการค้นหาความหมายว่า กลไกในการคิดถึงมงคลเรือของชุมชนนี้ อาจมีอยู่แต่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งการจัดวางใหม่ หรือกระทั่งนำมงคลของเรือขึ้นจากลำน้ำเก็บไว้ก่อน และนำกลับคืนหลังการแข่งชันจบลง

โขนเรือความยาว 7 ศอก กว้าง 10 นิ้ว ไม่ใช่เพียงบททดสอบของความจริงในการต่อสู้ระหว่างเรือแต่ละลำ แต่อาจเป็นนวัตกรรมการพิสูจน์ชัยชนะแบบบ้านๆ ซึ่งหากฝีพายแข็งแกร่งพอกัน ก็ยากที่จะพิสูจน์ความจริงของชัยชนะ ในเมื่ออดีตไม่สามารถหยุดเวลามานั่งดูภาพนิ่ง ดังนั้นเนื้อหาการพิสูจน์ผู้ชนะอันแท้จริง จึงกลายเป็นหน้าที่ของชุมชนนั้น ในการคิดค้นวิธีการพิสูจน์ที่เท่าเทียมยุติธรรม และหยิบจับเป็นรูปธรรมได้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดคำตำหนิได้ภายหลัง

ความหมายของข้อตกลงทางชุมชน ซึ่งประดิษฐ์แต่ละคำตอบที่ได้ข้อสรุปจากผู้คน คือหนึ่งในเนื้อหาทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของชุมชนไทยมากมาย กระจัดกระจายกันไปตามแต่ละความต้องการใช้ประโยชน์ของแต่ละท้องถิ่น เพียงพอต่อการเลือกใช้สอย มากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่ความเหมือนกัน พยายามทำให้เหมือนว่าเป็นพิมพ์นิยมพิมพ์เดียวกัน หรือจำเป็นต้องยึดขนบไว้แน่นหนาตายตัว

เช่นเดียวกับความหมายของ คำว่า “ขึ้นโขนชิงธง” ด้วยภาพสะท้อนอันมิแตกต่าง ในความดุเดือดดุดันของอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยที่เราถูกพยายามทำให้เชื่อว่าเป็นสังคมประนีประนอม และไม่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ก็ทำให้เราได้แลเห็นว่า ความหมายของการเหยียบกฎเกณฑ์พื้นฐานทางสังคม บางอย่างเพื่อขึ้นไปสู่ความหมายของอำนาจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง และยังเป็นสิ่งที่สามารถหาข้อยกเว้นได้ไม่ยากเย็นนัก

เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของวัฒนธรรมในอดีต ความสัมพันธ์ของการขึ้นสู่อำนาจ แบบวัฒนธรรมไทยที่จำต้องสัมพันธ์พร้อมกัน ระหว่างนายท้ายเรือ ฝีพาย และนายหัวเรือ ที่จำต้องเหยียบโขนเรือ ขึ้นเกี่ยวแข้งขา เหยียดลำตัวยืดลำตัวเพื่อหยิบธงแดงให้ได้นั้น คือภาพสะท้อนของความสำคัญในชัยชนะ มุมมองของการขึ้นสู่อำนาจ ในสูตรแบบสังคมช่วยเหลืออุปถัมภ์ ไม่เพียงสร้างกฎเกณฑ์เฉพาะที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตรรกะของวัฒนธรรมชุมชนอื่นมากำหนด เมื่อพบเห็นและเรียนรู้ว่า การขึ้นโขนชิงธงเป็นเรื่องราวเช่นไร

เมื่อความหมายของชีวิต หยั่งยากยิ่งหากเรามองย้อนหลังไปได้ไม่ยาวไกลพอ เหมือนคำสอนต่อนักเรียนประวัติศาสตร์ที่ว่า เมื่อง้างคันศรเหนี่ยวรั้งคันได้ไม่ยาวพอ ลูกธนูก็มิอาจวิ่งทะยานไปได้ไกล ดังนั้นการล้วงอดีต ก็เพียงเพื่อส่งธนูสู่อนาคต

ฝรั่งที่คนไทยต้องรู้จัก

แนะนำหนังสือ

“ฝรั่ง” ที่คนไทยต้องรู้จัก


สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ผู้เรียบเรียง
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2546

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ

ที่มาของหนังสือ
ผู้เขียนและผู้เรียบเรียงทั้ง 2 คน นำเสนอภายใต้ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสังคมไทย หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย 2540-2545 ในฐานะสื่อมวลชนที่วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ-การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองความคิดของคนไทย ซึ่งพิจารณาความเคลื่อนไหวของชาวต่างประเทศ ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของไทย จึงจัดทำบทวิเคราะห์และลำดับ ถึงความเหมือนเหล่านั้นเพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างในตัวตนของแต่ละประชาชาติในฐานะของ “ฝรั่ง” ที่คนไทยมอง เรียบเรียงประเด็นตั้งต้นผ่านหนังสือ The Europeans ของ Luigi Barzini ปัญญาชนชาวอิตาลี รวมกับแนวคิดด้านต่างๆ และบทสัมภาษณ์ปัญญาชนไทย ที่วิเคราะห์พิจารณา เพื่อให้เท่าทันและเข้าใจบางสิ่งซึ่งซ่อนอยู่ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของ “ฝรั่ง”

โครงสร้าง เรียบเรียง จัดแบ่งเนื้อหา จำนวน 9 บท ที่ประกอบด้วย

บทที่ 1 - ฝรั่ง : ชนชาติที่เราต้องต่อกร (หน้า 6-19)
รูปปกภาพแว่นขยายส่องหน้า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ปัญญาชนชาวยิว เหมือนสื่อสารให้เห็นถึงแก่นแท้แห่งปัญญาประชาชาติ “ฝรั่ง” ในความแตกต่างของความคล้ายคลึง จากวิธีคิดวิถีชีวิตของแต่ละชาติ บทเกริ่นนำอธิบายความเป็นผู้นำของฝรั่ง ที่เกิดขึ้นจาก “องค์ความรู้” ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาติอื่นในโลก ว่าเป็นผลจากการสั่งสมของนักคิด นักทฤษฏี และปัญญาชนมากมาย ด้วยพื้นฐานอันยิ่งใหญ่นี้คือผลลัพธ์ต่อการดำเนินชีวิตของโลกปัจจุบัน กลายเป็น “ภูมิธรรม” ดั้งเดิมอันแข็งแกร่งของฝรั่ง ซึ่งครอบครองความยิ่งใหญ่ในโลก ภาพสะท้อนสัญลักษณ์ของ “เงินยูโร” ถือเป็นความใฝ่ฝันถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปสหรัฐยุโรป ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี สิ่งเหล่านี้คืออานิสงส์และทุกข์ลาภ ที่ทำให้ชาวยุโรปกลายเป็นคนรอบคอบคิดหน้าคิดหลัง เท่ากับคนที่มองโลกในแง่ร้ายและขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ การรวมตัวของสหภาพยุโรปจึงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจอเมริกา และมหาอำนาจเอเชีย ภาพประวัติศาสตร์ในแต่ละชนชาติยุโรป ได้สะท้อนถึงความซับซ้อนจากจุดกำเนิด ผ่านคุณค่าและวิถีชีวิตอันแตกต่าง เปรียบดั่งไวน์ที่ชนชาติในยุโรปต่างผลิตขึ้นมา ด้วยความเหมือนที่มีความแตกต่าง เทียบเท่าความต่างในรสชาติไวน์แต่ละท้องถิ่น ที่ล้วนสะท้อนออกมาในความต่างของวิธีคิดแบบฝรั่ง และสิ่งเหล่านี้คือภาพที่สังคมไทยจะสามารถเข้าใจฝรั่งในเชิงลึกได้อย่างถูกต้อง เมื่อเราจำเป็นต้องสัมพันธ์ต่อรองทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยศึกษาถึงบทบาทความเป็นฝรั่ง ในฐานะของ “คน” หรือ “มนุษย์” ที่ว่า คนเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของความเจริญทั้งมวล

บทที่ 2 - ว่าด้วยชนชาติอังกฤษ ฝรั่งผู้ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยน ( หน้า 20 - 43 )
The Imperturbable British

เนื้อหาบทนี้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของฝรั่งชนชาติอังกฤษ โดยเชื่อมโยงจุดเริ่มวัฒนธรรมสูทดำที่เรียก “ชุดสากล” ว่ามีรากเหง้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ต่อมาเป็นแบบแผนเครื่องแต่งกายมาตรฐานสากล ซึ่งยุโรปหันมาชื่นชมความเป็นตัวตนอังกฤษ ในความหยิ่งผยองเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และเป็นผู้ดีที่แก้ปัญหาอย่างสง่างาม ว่ามีพื้นฐานสำคัญซึ่งยึดถือ “หน้าที่” เป็นตัวชี้นำชีวิต ด้วยความมัธยัสถ์อดทน ตรงต่อเวลา โดยเชื่อกันว่าพวกเขาต่างมีภารกิจยิ่งใหญ่อยู่ในจิตวิญญาณชนชาติตน ที่เชื่อว่า“โลกและคนบนพื้นที่ต่างๆในโลกนี้ จะต้องมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ หากได้รับการฝึกฝนอบรมที่ดีจากพวกเราชาวอังกฤษ” ท่ามกลางความโดดเด่นด้านนวัตกรรมตั้งแต่ริเริ่มระบอบรัฐสภา ออกแบบสร้างรถไฟ สร้างระบบมาตราวัดที่ใช้กันทั่วโลก รวมทั้งสร้างมาตรฐานการเดินเรือ นอกจากคุณค่าในเรื่องนวัตกรรม ฝรั่งอังกฤษยังมีคุณค่าวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของภาษาพูดและวิถีชีวิตที่ถูกชื่นชมถึงภาพลักษณ์สุภาพบุรุษ เท่ากับภาพยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติมหาอำนาจอังกฤษที่มีอาณานิคมมากมาย จนกล่าวกันว่าเป็นอาณาจักรที่ “พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ซึ่งเกิดขึ้นจากความยิ่งใหญ่ทางการทูตและการทหาร ที่ทำให้ชาติอื่นต้องการนำเป็นแบบอย่างและเป็นให้ได้เช่นอังกฤษ ความสามารถพิเศษเหล่านี้ของฝรั่งอังกฤษ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนสุขุมดั่งตัวตนที่ว่า “น้ำนิ่งที่ไหลลึก” ด้วยตัวตนที่พร้อมแสดงออกในยามวิกฤติ เหมือนมีรหัสที่ฝังในตัวคนอังกฤษ โดยเป็นรหัสจากการอบรมสั่งสอน ด้วยความรู้ความเข้าใจถ้าต้องกระทำสิ่งใดเพื่อดินแดนแห่งมาตุภูมิ ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า The Seven Ideas ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นแบบคนอังกฤษ ถึงสิ่งที่ควรทำและควรวางตัว ด้วยเหตุสำคัญจากระบบการศึกษาและเลี้ยงดู ซึ่งเป็นหัวใจแห่งวัฒนธรรมฝรั่งอังกฤษ ด้วยค่านิยม Stoics ที่คำนึงถึงสัจจะที่ยอมรับการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง ยอมรับด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว โดยยึด “หน้าที่” เป็นสรณะซึ่งกำหนดการดำเนินชีวิต อันเป็นภูมิธรรมของฝรั่งอังกฤษ ซึ่งพิสูจน์ตัวตนอันแท้จริงแห่งความยิ่งใหญ่ของความเป็นคนอังกฤษที่ยังคงมนต์ขลัง

บทที่ 3 - ว่าด้วยชนชาติเยอรมัน ฝรั่งที่กลายพันธุ์ได้ทุกเมื่อ ( หน้า 44 – 65)
The Mutable Germans

บทนี้กล่าวถึงฝรั่งชาติเยอรมัน ว่าเป็นชนชาติผลิตนักปราชญ์ คีตกวีอัจฉริยะจำนวนมาก จนสามารถสร้างชาติเป็นปึกแผ่น กล่าวกันว่าในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา อนาคตของยุโรปมักอยู่ภายใต้พฤติกรรมชาติเยอรมัน จนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองโลก ว่าทำไมฝรั่งชาตินี้จึงมุ่งมั่นสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ จนตัดสินใจทำสงครามโลกกระทั่งจบด้วยความพ่ายแพ้ แต่ถึงจะแพ้สงครามเยอรมันก็กลับมากุมชะตากรรมยุโรป และของโลกอีกครั้งหนึ่ง อิทธิพลของเยอรมันจึงมีผลต่อยุโรป การเข้าใจฝรั่งชาติเยอรมันจึงถือเป็นการเข้าใจอนาคตยุโรป เพราะอิทธิพลในฐานะแหล่งผลิตผลงานศิลปวัฒนธรรมและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเสาหลักแห่งวัฒนธรรมตะวันตกยุคใหม่นั้น เกิดจากอุปนิสัยคนเยอรมันที่พูดจริงทำจริงมีวินัยอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อบรรลุเป้าหมาย สะท้อนตัวตนการปฏิบัติหน้าที่ประดุจธรรมะในการดำเนินชีวิต เมื่อได้เชื่อมั่นสิ่งใดก็จะไม่คลอนแคลน นับเป็นความขัดแย้งของชนชาติที่พร้อมก่อสงครามแห่งความรุนแรงท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าอำนาจ ซึ่งเยอรมันสร้างเพื่อเกิดความฮึกเหิมในชาติ ภาพสะท้อนของฝรั่งเยอรมัน ที่ส่งผลต่อตัวตนคนเยอรมัน ได้สรุปผ่านคำกล่าวของนักปราชญ์นิชเช่ ถึงตัวตนฝรั่งชาติเยอรมันว่า “จิตใจของคนเยอรมันนั้น เปรียบเสมือนห้องหลายห้องที่เปิดหากันได้ เมื่อเจอห้องหนึ่งก็สามารถข้ามไปเจออีกห้องหนึ่งได้ และนอกจากจะเจอห้องเหล่านั้นแล้ว บางทีก็ไปเจอถ้ำและถ้ำใต้ดินซ้อนเข้าไปอีก โดยที่ความไร้ระเบียบนี้เต็มไปด้วยความน่าฉงนสนเท่ห์” และจากความลึกลับที่หยั่งไม่ถึงนี้เอง ที่มักทำให้เยอรมันมีเส้นทางซ่อนเร้นที่มักนำไปสู่ความโกลาหล ประเด็นที่น่าสนใจเหล่านี้คือภาพสะท้อนอุปนิสัยฝรั่งเยอรมัน ในฐานะชาติที่สามารถแปรเปลี่ยนได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อพบว่า สิ่งที่ซ่อนอยู่ในอุปนิสัยของชาวเยอรมันนั้น มักมีสิ่งที่ซ้อนเร้นในใจเสมอ

บทที่ 4 - ว่าด้วยชนชาติฝรั่งเศส ฝรั่งที่ชอบวิวาท ( หน้า 66 – 83)
The Quarrelsome French

บทนี้กล่าวถึงชนชาติฝรั่งที่ภาคภูมิใจ ในฐานะผู้ผลิตความคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่ และแหล่งผลิตนักปฏิวัติชั้นนำของโลก ฝรั่งเศสคือฝรั่งที่ชอบพูดว่าตัวเองคือผู้นำยุโรป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15–18 ฝรั่งเศสถือเป็นประชาชาติที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ก้าวหน้าด้านวรรณกรรมวิทยาการ มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่บ่มเพาะปัญญาชน ภาษาฝรั่งเศสเคยถือเป็นภาษาพูดในราชสำนักของชาติต่างๆในยุโรป รวมทั้งความเป็นต้นทางอารยธรรมสังคมตะวันตก ด้วยเครื่องแต่งกายและอาหารการกิน รวมทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นส่วนหนึ่งในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ บทเชื่อมเนื้อหาสำคัญคือสะท้อนภาพฝรั่งที่ถือว่าตนเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรือง ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตนที่เกิดจากอัตตาแห่งชาวฝรั่งเศส อันมาจากอุปทานในอดีต จากความยิ่งใหญ่แห่งกองทัพฝรั่งเศส ความภาคภูมิใจในอดีตคือบทเรียนราคาแพงในสงครามโลกที่เกิดจากความทระนงจนเกินไป และเกิดจากอุปนิสัยที่ชอบเถียงชอบวิวาท ด้วยอุปนิสัยของฝรั่งชาตินี้ที่มีคนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน และรบรากันอยู่เสมอ จนกระทั่งปัจจุบันที่สภาพความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ ลักษณะการหวงแหนความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง ทำให้คนฝรั่งเศสไม่ยอมทิ้งอุปทาน ไม่ประนีประนอม และไม่ยอมลงให้กับใคร คือต้นทุนที่ปัจจุบันฝรั่งเศสยังคงต้องแบกภาระแห่งความเป็นผู้นำยุโรปในอดีตไว้ ท่ามกลางภาวะความรู้สึกเพื่อการวิวาทกับตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดไป

บทที่ 5 - ว่าด้วยชนชาติอิตาเลียน ฝรั่งที่ชอบพลิกแพลง ( หน้า 84 – 113)
The Flexible Italians

บทนี้กล่าวถึงชาติฝรั่งรักสนุกที่มีความเป็นศิลปิน ที่คนส่วนมากมองชาวอิตาเลียนว่าเล่ห์เพทุบาย อันนับเป็นอคติที่ผู้คนมองฝรั่งชาตินี้ ด้วยตัวตนของฝรั่งที่ยากต่อการนิยาม ไม่สามารถกำหนดบรรทัดฐาน เพื่อทำนายพฤติกรรมในอนาคตของฝรั่งชาตินี้ได้ ด้านหนึ่งตัวตนอิตาลีก็ถือเป็นฝรั่งที่มีความสามารถ แต่มีจุดยืนและหลักการที่แปรเปลี่ยนได้ตลอด ขณะที่ฝรั่งชาตินี้มองข้อสรุปชาวต่างชาติ ว่าเป็นเรื่องความไม่อดทนอดกลั้นต่อภาพลักษณ์สรวลเสเฮฮาไร้แก่นสาร ไม่มีระเบียบวินัย เสพสุขจนเหลือคณา แต่ฝรั่งอิตาลีกลับรู้สึกถึงความทุกข์เข็ญใจ ซึ่งสั่งสมมานานนับร้อยปีที่ใฝ่ฝันถึงรัฐอันเที่ยงธรรมยุติธรรมเข้มแข็งพ้นภัยจากศัตรู ท่ามกลางความภูมิใจและศักดิ์ศรี การเข้าใจความคิดและจิตเบื้องลึกของฝรั่งอิตาลี จำต้องเข้าใจความแปลกแยก ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าอิตาลีเลือกเวลาที่จะต่อสู้ จะสู้ก็ต่อเมื่อต้องสู้อย่างมีวินัยมีประสิทธิภาพ ด้านหนึ่งอิตาลีถือเป็นชนชาติที่ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นด้วยความโกลาหลเสมอ แต่ความวุ่นวายกลับมิได้ทำให้ความสามารถ ในการผลิตการสร้างสรรค์นวัตกรรมลดลง นับเป็นความมั่งคั่งในสังคมอิตาลีที่ประสบความสำเร็จ เป็นการปรับตัวในเชิงวัฒนธรรมท่ามกลางความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแรงงาน ประเด็นสำคัญของฝรั่งชาตินี้ คือความสามารถในการจัดการกับ Public lie, Private truth อันสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชีวิตสองมาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจฝรั่งที่เลือกไว้วางใจพรรคพวกเดียวกัน หรือเครือญาติด้วยความจริงและสัจจะในโลกส่วนตัว มากกว่าความจริงในกฎหมาย ชนชาติอิตาลีถือเป็นฝรั่งที่ปรับตัวกับความทันสมัยได้น้อยที่สุด เป็นชาติโบราณที่มีวัฒนธรรมมากว่าพันปี ด้วยความเชื่อและคุณค่าที่สืบทอดกันมา อิตาลีจึงเป็นชาติที่ยึดติดในความยิ่งใหญ่ของอดีต ท่ามกลางความขัดแย้งด้วยอุดมการณ์อันแตกต่างที่ได้สร้างความอ่อนแอให้เกิดขึ้น ปัญญาชนชั้นนำของอิตาลีกล่าวว่า อิตาลีชอบแลไปข้างหลังถึงความยิ่งใหญ่ของตัวในอดีต การรวมตัวสู่ความเป็นสหรัฐยุโรป อาจเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ฝันร้ายของตนเองในความเป็นประชาชาติ ที่ยังต้องปรับตัวเพื่อพิสูจน์ความเป็นชนชาติที่ทรงประสิทธิภาพและหลักแหลม ที่สามารถเข้าร่วมแก้ปัญหาของยุโรปและของโลกได้

บทที่ 6 - ว่าด้วยชนชาติวิลันดา ฝรั่งผู้แยบยล ( หน้า 114 – 123)
The Careful Dutch

บทนี้กล่าวถึงชาติฝรั่งซึ่งเป็นต้นแบบการรวมเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ที่พยายามเชื่อมโยงด้วยแนวคิดเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะยับยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของสงครามได้ เมื่อทุกประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน จากพื้นฐานซึ่งสามารถนำรัฐสวัสดิการและระบบทุนนิยมให้วิ่งควบคู่กันไปได้อย่างสมานฉันท์ รูปธรรมสำคัญเพื่อประสานผลประโยชน์ร่วมกัน คือความโดดเด่นของฝรั่งชาตินี้ที่มีสำนึกร่วมอุดมคติ และคุณค่าต่อผืนแผ่นดินตนเองและต่อยุโรป ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการรวมยุโรปอันเป็นผลจากสงครามโลก ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่วิลันดา ทำให้กลายเป็นฝรั่งที่ระมัดระวังในการประพฤติปฏิบัติตัวสูง ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ที่เคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศส สเปน ออสเตรีย รวมทั้งศาสนจักรโรมันคาทอลิก การหล่อหลอมจากบทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานในสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะเห็นยุโรปมีสันติภาพ คือเหตุผลสำคัญในการดำรงอยู่ของชนชาติตนเองมากกว่าเหตุผลทางการเมือง ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมและทักษะของภาษาพูดที่หลากหลาย ทำให้ฝรั่งวิลันดาภาคภูมิใจในความเป็นชาติที่หลากหลายทางวัฒนธรรม หล่อหลอมด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรกรรม ฝรั่งวิลันดาปลูกฝังความเชี่ยวชาญด้านกสิกรรมกับจิตวิญญาณแห่งนักเดินเรือชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่ยุคกลาง ด้วยความโดดเด่นในฐานะชนชาติพ่อค้าทางทะเลคือความยิ่งใหญ่ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ในด้านหนึ่งฝรั่งชาติวิลันดามีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ความขยัน ขณะเดียวกันพร้อมสำหรับการเปิดกว้าง ซึ่งรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ด้วยพื้นฐานสำคัญซึ่งหล่อหลอมบุคลิกภาพของฝรั่งวิลันดา ส่งผลต่อความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตพร้อมกับตัวตนของชีวิตที่ไม่มั่นคง ทำให้เป็นฝรั่งชาตินักร่างสัญญา และดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมของสนธิสัญญา ที่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเชื่อมั่นและยึดมั่นต่อหลักศาสนามาสู่สนธิสัญญาแทนที่ ความศรัทธาต่อสนธิสัญญาใหม่จึงสะท้อนออกมาเสมอ สำหรับความเชื่อมั่นในการรวมตัวของชาติยุโรป

บทที่ 7 - ว่าด้วยชนชาติอเมริกัน ฝรั่งที่ใครก็คาดเดาไม่ถูก ( หน้า 124 – 135)
The Baffling Americans

บทนี้กล่าวถึงชนชาติฝรั่งมหาอำนาจที่ตัดสินและกำหนดชะตากรรมของโลก นับตั้งแต่การจัดระเบียบโลกใหม่ ด้วยความยิ่งใหญ่ด้านวิทยาการสูงสุด ทั้งวิทยาศาสตร์ การทหาร การเงิน การสื่อสาร และอิทธิพลทางความคิด ที่ชนชาติในยุโรปไม่เพียงเฝ้ามองแต่ยังต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ความยิ่งใหญ่ ความชื่นชมที่ฝรั่งยุโรปมีต่ออเมริกา คือ “ความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน” ที่เริ่มต้นการก่อกำเนิดและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ นับเป็นความชื่นชมพึงพอใจท่ามกลางความไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจ ถึงพฤติกรรมและอารมณ์อันไม่คงที่ของอเมริกา ที่ยากต่อการคาดการณ์ และยากต่อการคาดเดา เฮนรี คิสซิงเจอร์ เคยกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของอเมริกา มักเป็นแบบดำว่ายดำผุด หรืออยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยความปิติ สลับกับสภาวะที่เศร้าหมอง หรือบางทีก็เป็นแบบกระต่ายตื่นตูม ชนชาติที่ประเมินได้ยากเช่นอเมริกา จึงเป็นหนึ่งในการคำถามของฝรั่งชาติอื่นเสมอ ตัวตนฝรั่งอเมริกามีเรื่องราวของความเป็นนักปฏิบัติ ที่มีสองภาคในตัวตนเดียวกัน ในความหมายของภาคที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ แต่ในความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่นั้น ยังส่งผลต่อภาคความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงมากเกินไป คุณค่าท่ามกลางเรื่องราวของชนชาตินักประดิษฐ์ ที่สามารถมองถึงคุณูปการท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของผลงานการประดิษฐ์ ซึ่งกลับพบว่า อเมริกาเป็นชาติที่มีรูปแบบและรูปธรรมของความไม่อดทน จากสิ่งประดิษฐ์มากมายอันสะท้อนถึงความไม่อดทนนี้ กลับเป็นอุปนิสัยที่แท้จริงของฝรั่งชาติอเมริกา ที่ชาติยุโรปต่างพากันกังวลมาตลอด ท่ามกลางผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายบางอย่างในความไม่อดทนของอเมริกา คือสัญญาณที่บ่งบอก ถึงเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่ฝรั่งชนชาติอื่นต้องจับตามองตลอดเวลา จากแนวนโยบายและตัวตนที่กลับไปกลับมาของอเมริกา

บทที่ 8 - สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ : ว่าด้วยยิว (หน้า 136-149)

เนื้อหาบทนี้มาจากบทสัมภาษณ์ ในตัวตนฝรั่งชนชาติยิว เชื้อชาติที่กระจายอยู่ในแต่ละประชาชาติฝรั่ง ซึ่งมีบทบาทต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งมีอิทธิพลทางการเมืองต่อประชาชาติฝรั่งต่างๆ ในฐานะฝรั่งที่กุมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไว้ในกลุ่มเชื้อชาติตน โดยย้อนไปถึงต้นกำเนิดทางเชื้อชาติ จากพื้นฐานความขัดแย้งดั้งเดิม ที่แบ่งแยกความเป็นศาสนายูดายหรือศาสนายิว ออกจากศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม โดยแนวคิดนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวยิว เชื่อมั่นตามบทพระบัญญัติว่า ตนคือคนพิเศษที่พระเจ้าเลือก ท่ามกลางความขัดแย้งของแนวคิดทางศาสนา ที่ทำให้ยิวต้องต่อสู้ต่อการถูกดูดกลืนทางเชื้อชาติ ตลอดระยะเวลานับพันปี ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของความกดดัน ซึ่งสร้างให้ฝรั่งเชื้อชาติยิวมีความเป็นเลิศในโลกยุคปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยวัฒนธรรมและองค์ความรู้ทางปัญญา สร้างสรรค์กลไกเศรษฐกิจการเงินของโลกปัจจุบัน รวมทั้งการตัดสินใจต่ออนาคตและชะตากรรมของโลก ด้วยอำนาจของทุนและเงินในกลุ่มเชื้อชาติยิว มุมมองความโดดเด่นของนักคิดนักปรัชญาเมธีชาติยิว ซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดชะตากรรมของโลก คือประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะแนวคิดทฤษฎีหรือการเข้าไปมีบทบาทในด้านองค์ความรู้ของประชาชาติฝรั่งต่างๆ ในสถาบันการศึกษาระดับสูง หรือกำหนดองค์ความรู้วิชาการให้กับฝรั่งชาติอื่นๆ อิทธิพลทางความคิดและทางวิชาการของฝรั่งชาติยิว คือหนึ่งในฐานรากสำคัญทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของฝรั่งชาติต่างๆ เท่ากับการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการต่างประเทศ ให้กับฝรั่งเชื้อชาติอื่นๆ เพื่อนำไปสู่บทบาทและข้อสรุปอื่นในอนาคต

บทที่ 9 - พันศักดิ์ วิญญรัตน์ : คำอธิบาย (หน้า 150 - 159)

บทนี้เปิดตัวด้วยข้อเขียนของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2515 ซึ่งปรับปรุงจากข้อเขียนของ อิชิโร คาวาซากิ อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ด้วยมุมมองถึงโครงสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้โครงสร้างของ ไซบัตซุ ที่มีการรวมตัวของนักการเมือง และนักธุรกิจขนาดใหญ่ ปรากฏตัวในรูปการค้าระหว่างประเทศหรือการทูต ซึ่งเอื้อต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ภายใต้การขนานนามวิธีการทูตของญี่ปุ่นว่าเป็นการฑูตเพื่อเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงตระกูลใหญ่สามตระกูล ที่ประกอบด้วย มิตซุย มิตซุบิชิ ซุมิโตโม ซึ่งกุมนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่องยาวนาน ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และอำนาจทางการเมืองที่สำคัญของญี่ปุ่น ล้วนเป็นไปภายใต้การต่อรอง ในรูปแบบของตัวแทนทางการเมืองที่เป็นตัวแทนในสภา ภายใต้สภาพที่เรียกว่า กลุ่มกดดันที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโต สนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของประเทศเติบโต รวมทั้งการเชื่อมโยงรูปแบบการคอร์รัปชั่นทางการเมืองของญี่ปุ่น ว่าเกิดขึ้นจากประเพณีอันเก่าแก่ของสังคมญี่ปุ่น ที่นับถือประเพณี พี่ๆน้องๆ ในระบบการเมืองญี่ปุ่น ที่ทำให้นักการเมืองในท้องถิ่น สามารถเชื่อมโยงเอื้ออำนวยให้เกิดการประสานประโยชน์ จนกล่าวว่าระบบการเมืองของญี่ปุ่นเป็นระบบตายด้าน และหาลักษณะผู้นำมิได้ เนื่องจากการประสานประโยชน์ในเชิงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มากกว่าการมุ่งเน้นอุดมคติทางการเมือง

บทสรุป
เรื่องราวบทวิเคราะห์เพื่ออธิบายตัวตนของฝรั่งในแต่ชนชาติ ถึงความแตกต่างที่แฝงอยู่ในแต่ละประชาชาติฝรั่ง ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดวิธีคิด วิธีตัดสินใจ และการพิจารณาคัดเลือกนโยบายระหว่างประเทศ ที่จะมีผลกระทบต่อสังคมโลก โดยอธิบายเรื่องราวจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ แนวคิดทางวัฒนธรรม และบทเรียนของแต่ละประชาชาติฝรั่ง ว่ามิได้เหมือนหรือคิดในทิศทางเดียวกันทั้งหมด หากแต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดบางอย่าง ท่ามกลางแรงผลักดันหนึ่งเดียวของอนาคตทุนนิยม เมื่อโลกทุนนิยมกำลังก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการแข่งขัน และการต่อสู้ในเชิงของทุนข้ามชาติ ข้ามรัฐ ความเข้าใจต่อตัวตนที่แท้จริงของแต่ละประชาชาติ คือกุญแจสำคัญในการลำดับความสนใจ และวิธีเข้าใจประชาชาติฝรั่ง ที่ถือเป็นผู้เล่นหลักในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงช่วงเวลาในการบริหารวิกฤติทางเศรษฐกิจที่อาจขึ้นได้อยู่เสมอ มิติทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของประชาชาติฝรั่ง คือเนื้อหาที่หนังสือเล่มนี้พยายามเรียบเรียงอธิบาย เพื่อลำดับความให้เห็น ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากพิจารณาอดีตของตัวตนฝรั่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่าคิดคำนึงและใคร่ครวญสู่การตัดสินใจเช่นไร หากจะต้องกำหนดความเป็นไปของอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางความเป็นไปของโลกในอนาคต ซึ่งกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของประชาชาติไทย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ
ปีที่พิมพ์ : กุมภาพันธ์ 2546
ชื่อหนังสือ : ฝรั่ง
ประเภท : สารคดี - บทวิเคราะห์
ชื่อผู้เรียบเรียง : สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พิมพ์ที่ : นำอักษรการพิมพ์

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติ
สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ฝรั่ง.- - กรุงเทพฯ : แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป, 2546
160 หน้า
1.ชาวต่างประเทศ.-2.ชนต่างชาติ I. ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ผู้แต่งรวม
II.ชื่อเรื่อง
305.3069
ISBN 974-90937-4-7

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ

ประวัติ

สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
สื่อมวลชนที่มีประสบการณ์ในด้านมุมมองทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันทำหน้าที่สื่อทางสังคม ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้จัดการ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและมุมมองใหม่ทางความคิด ผ่านการถ่ายทอดสู่สังคมไทยด้วยการจัดทำหนังสือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
อดีตนักการธนาคาร ผู้มีแนวคิดและความเชื่อมั่นในเรื่องความเข้าใจและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของทุนในระดับโลก รวมทั้งสนใจการพัฒนาองค์ความรู้ และการถ่ายทอดทางปัญญา จึงพัฒนาความคิดสู่การทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยในปัจจุบันเป็นเจ้าของนิตยสาร Corporate Thailand นิตยสาร MBA และสื่อรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดการ และบริหารทุน ผสมผสานกับมุมมองของแนวคิดสมัยใหม่ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย

ราชนีติ-RAJANITI

แนะนำหนังสือ
ราชนีติ
RAJANITI



สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ถอดความภาษาอังกฤษ

ศาสตราจารย์ ตุน นาร์ ดูเบย์
Prof. Dr. Tung Nart Dubey
ถอดความภาษาสันสกฤต เป็นภาษาอังกฤษ

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ MBA, 2545

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ

ที่มาของหนังสือ
ด้วยบทขึ้นต้น และคำนำเสนอหน้าปก ว่า “คิดอย่างกษัตริย์ บริหารดุจราชันย์ คือ ผู้พิชิตล้ำเลิศเหนือมนุษย์” คงช่วยขยายความสำคัญบางประการที่ปรากฏในงานชิ้นนี้ จากศาสตร์และศิลป์ในองค์ความรู้แห่งโลกโบราณ ซึ่งสังคมสยามได้เพียรพยายามถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราว สู่การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังภูมิธรรมในด้านการเมืองการปกครองมาโดยตลอด ในครั้งนี้ เนื้อหาและความงาม ซึ่งผ่านการใคร่ครวญคิดคำนึง ถึงหลักปฏิบัติอันพึงกระทำและไม่พึงกระทำ จากงานยิ่งใหญ่ของมหาปราชญ์นาม พราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณมิสกะ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในอีกหนึ่งต้นฉบับ จากฝีมือของหนึ่งนักคิดอินเดีย และสองนักเขียนไทย

ผู้ถอดความและผู้เรียบเรียงทั้ง 2 คน นำเสนอมุมมองทางปัญญา และคลังความรู้แห่งโลกตะวันออก ด้วยการถ่ายทอดมุมมองจากภาษาอังกฤษ ที่ได้รับการขัดเกลาจากภาษาสันสกฤต เพื่อตอกย้ำให้เห็น ถึงความสำคัญของงานเขียนระดับคัมภีร์ชิ้นนี้ ว่าเหตุใดภูมิปัญญาแห่งโลกภาษาสันสกฤตจึงได้รับความสนใจจากปัญญาชนไทย จนกระทั่งมีการแปลและถ่ายทอดความในหลายครั้งหลายครา ความหมายแห่งภูมิธรรมเหล่านี้ ยังคงสดใหม่และลุ่มลึกเสมอ สำหรับโลกแห่งปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน ที่เรายังคงต้องการองค์ความรู้ ไว้คอยกำกับจังหวะก้าวชีวิตแห่งการกระทำและไม่กระทำของผู้ปกครองทั้งหลาย นอกเหนือจากความชำนาญการในด้านอื่น วิทยาการในด้านการจัดการของโลกโบราณ ลุ่มลึกและประสานกันไว้ได้อย่างนุ่มนวล จนเสมือนอ่านงานเขียนคัมภีร์ชิ้นนี้ ด้วยความรู้สึกดุจการอ่านบทกวี เรียบง่ายชัดเจน และใช้ภาษาที่เข้าใจได้ตรงความ เป็นอีกหนึ่งต้นฉบับของการถ่ายทอดความคิด ความเข้าใจ และมุมมองต่อโลก ด้วยภาษาที่ก้าวผ่านขีดจำกัดของความเข้าใจ โดยใช้สำนวนความคิดในโลกปัจจุบัน


คำกล่าว
ราชนีติ ศาสตร์อันพึงปกครอง
ศาสตราจารย์ ตุน นาร์ ดูเบย์

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติ และซาบซึ้งต่อสำนักพิมพ์ ผู้เป็นกัลยาณมิตร ที่ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าถ่ายทอดศาสตร์ หรือคำว่า “ราชนีติ” ต่อท่านผู้อ่าน ข้าพเจ้ามีความยินดีเพราะคำว่า “ราชนีติ” นั้น เป็นศัพท์เฉพาะจากชมพูทวีป หรือมาจากทางอินเดีย “ราชนีติ” เป็นคำศัพท์ที่บ่งถึงสิ่งประพฤติปฏิบัติจากผู้ปกครองของรัฐ ดังนั้นความหมายอีกอย่างของ “ราชนีติ” คือ “ศาสตร์ว่าด้วยการปกครอง” นั่นเอง

“ราชนีติ” เป็นคำผสม ระหว่างคำว่า “ราชา” หรือ “รัฐ” และคำว่า “นีติ” ซึ่งหมายความถึง “สิ่งที่เกี่ยวกับความประพฤติ” ดังนั้น ความหมายโดยรวมก็คือ “ความประพฤติของรัฐ” นั่นเอง

รัฐศาสตร์ ถือว่าเป็นศาสตร์ว่าด้วยการปกครองของรัฐบาล ที่มีต่อกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง และถึงแม้ว่าคำว่า ราชนีติ จะพ้องความหมายไปในศาสตร์ว่าด้วยการปกครองของรัฐ หรือรัฐศาสตร์ แต่แก่นสารที่แท้แห่งราชนีติมีความหมายมากกว่าศาสตร์แห่งการปกครอง

ราชนีติ คือ “คลังวิทยา” ที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งการปกครองหรือการบริหารในทุกๆเรื่องของรัฐประชาชาติเป็นศาสตร์ว่าด้วยการบริหารองค์กร โดยเจ้าผู้ปกครอง พระราชอำนาจพิเศษ และข้อจำกัดของผู้ปกครอง สิ่งจำเป็นสำหรับราชอาณาจักรของเจ้าผู้สืบราชสมบัติ หรือผู้ปกครองรัฐที่มาจากฉันทามติของปวงชน สิ่งที่ว่าด้วยความเป็นตัวแทนประชาชน กิจการกองทัพ บุคลากรของหน่วยงานรัฐที่ครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้าน

ราชนีติยังหมายถึง การบริหารรายได้ การใช้จ่าย การค้า การอุตสาหกรรม และสวัสดิการของรัฐต่อประชาชน ยังครอบคลุมไปถึงการพิจารณาและตัดสินคดีความอันชอบธรรม ศาสตร์ว่าด้วยการบริหารการคลังให้เกิดสมดุล ศาสตร์ว่าด้วยสงครามและสันติภาพ พิชัยสงคราม รัฐประศาสนศาสตร์ คลังวิทยาแห่งราชนีตินี้ ครอบคลุมไปทุกแขนงของการดำรงอยู่ของรัฐ และประชาชนซึ่งรวมถึงหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย

คุณภาพของศาสตร์ทางการเมือง รวมถึงนักการเมือง ได้เสื่อมลงไปมากจึงทำให้ ราชนีติ เป็นสิ่งที่จักต้องนำมาพิจารณา และนำมาปฏิบัติ ท่านมหาตมะ คานธี ได้นำศาสตร์ว่าด้วยการปกครอง หรือราชนีติ มาประยุกต์ใช้ในการต่อสู่แสวงหาสัจจะทางการเมืองเพื่อให้เกิดความชอบธรรมต่ออาณาประชาราษฎร์ และได้บรรลุถึงความเพียร โดยอาศัยราชนีติ เป็นเข็มทิศในการปฏิบัติ นับแต่อดีตกาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันกาลมวลประชาราษฎร์ ต้องการศาสตร์แห่งการปกครอง หรือการบริหารที่มีคุณภาพมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง

การเมืองในปัจจุบัน ได้กลายเป็นศาสตร์ที่ถูกปฏิบัติจากสิ่งๆหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์ หากแต่ไม่ใช่มนุษย์เสียทีเดียว เพราะคุณภาพที่ราษฎรได้รับจากการปกครองเต็มไปด้วยความตลบตะแลง และฉาบฉวย นักการเมืองเช่นนี้ ดำรงอยู่ได้โดยไม่ได้อาศัยปัญญา แต่มาจากสัญชาติของสัตว์ที่อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ปัญญา การฉ้อฉลต่อศาสตร์แห่งการปกครองและจากนักการเมืองที่สร้างวงจรอุบาทว์ขึ้นมานั้น ได้ทำลายกระบวนการปกครองอันชอบธรรมและทำให้ความสง่างามขอศาสตร์ ว่าด้วยการปกครองต้องมัวหมองไป

ความไม่สง่างามเหล่านี้ ได้อุบัติขึ้นเพราะความล้มเหลวที่จะเข้าใจธรรมชาติแห่งศาสตร์และบทบาทของการปกครอง จุดมุ่งหมายของการเมืองการปกครอง คือการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ความขัดแย้งอาจเป็นครรลองของการเมือง แต่การเมืองมิได้ถูกรังสรรค์มาเพื่อการนั้น การจัดการความขัดแย้งจึงเป็นศาสตร์แห่งการปกครอง สำหรับธรรมชาติสังคมมนุษย์ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรกีฬา หรือสมาคมสตรี ปีศาจการเมืองจึงปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง คอยหลอกหลอนมนุษย์ทุกชั่วยาม การเมืองจะหมดไปจากโลกนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเราจัดระเบียบให้สังคมมีสภาพเป็นค่ายทหารได้

มหาภารตะนั้น ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ของหมู่บัณฑิตอินเดีย แม้เราหันไปเรียนรู้ศาสตร์และวรรณกรรมจากทางอัสดงประเทศ แต่ที่สุดเราก็ต้องกลับไปแสวงหาสัจจะในเรื่องการเมืองการปกครองที่ทุกสำนักถามกันอยู่เสมอคือ “เพราะเหตุใดคนบางคนจึงสามารถปกครองคนอื่นๆ ทั้งๆที่คนอื่นๆนั้น มีปัญญาและปฏิภาณ และความแข็งแกร่งทางกายภาพ ไม่แพ้ผู้ปกครองผู้นั้น”

หนึ่งในคำตอบที่น่าสนใจมีอยู่ว่า เพราะแรกเริ่มเดิมทีเดียว โลกมนุษย์ ไม่มีรัฐ ไม่มีเจ้าผู้ปกครอง ไม่มีกฎหมาย หรืออาชญากรรม แต่มนุษย์ได้ตกลงไปในทะเลแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง และต้องการเข้ายึดการปกครองเหนือผู้อื่น โดยไม่คำนึงว่าอำนาจที่ได้มานั้นเป็นอำนาจอันชอบธรรมหรือไม่ เหมือนดั่งกับปลาใหญ่กินปลาเล็ก

เพื่อรักษาสังคมและความมั่นคงให้กับระเบียบรัฐ จึงบังเกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้สังคมตกอยู่ภาวะอนาธิปไตย ซึ่งเป็นผลจากกฎปลาใหญ่ ราชนีติจึงเกิดขึ้นเพื่อปกครองรัฐที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมา

พัฒนาการแห่งศาสตร์แห่งการปกครอง (ราชนีติ) มีความสัมพันธ์กับการจัดระเบียบสังคม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับศตวรรษนี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่มีรัฐใดที่ดำรงอยู่ได้ โดยปราศจากการใช้อำนาจคุกคามบังคับที่จะไม่ถูกต่อต้าน รัฐคือผลแห่งความปรารถนาของมนุษย์ผู้ต้องการความมั่นคง และระเบียบทางสังคมที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสงบและเก็บเกี่ยวรื่นรมย์กับผลไม้ที่มาจากการลงแรงของตัวเขา และไม่กลายเป็นเหยื่อของกฎปลาใหญ่

ไม่น่าประหลาดใจว่า ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เชือดเฉือนต่อราชนีติ จะมาจากเหล่าผู้ปกครองเผด็จการ สถานการณ์ของเขาเหล่านี้อาจจะแตกต่างกัน ปัญหาและอำนาจนั้นหลากหลายแต่สิ่งสามัญที่เหมือนกันคือการปฏิเสธต่อราชนีติ อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าเหล่าผู้ปกครองเผด็จการ ผู้ไม่อดทน ก็จะพบว่าปีศาจนั้นไม่สามารถไล่ไปได้และพวกเขาก็จะกลายเป็นกลุ่มพวกของมันไป ทั้งที่รู้สึกตัวอยู่ จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่จะยอมรับความจริงในเรื่องของความขัดแย้ง และหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ โดยการต่อต้าน โดยการยินยอม โดยการญาติดี โดยการโน้มน้าวใจหรือกล่าวสั้นๆ โดยการอาศัยหลักของราชนีติ บุรุษผู้ยอมรับเอาภาระที่สำคัญนี้ นับเป็นผู้รับบทบาทอันทรงเกียรติ

ใครก็ตามที่ใส่ใจในสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ และประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์ เขาผู้นั้นก็จะเป็นนักการเมืองที่ดี ปกครองประเทศโดยมองผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ความสามารถอันเป็นเอกที่รัฐบุรุษในยุคใหม่พึงมีคือ ความสามารถในการสร้างความกระจ่างแจ้ง แทงตลอดในเรื่องความสับสนและความโกลาหลอันเกิดจากผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไหลรวมเข้ามาอยู่โต๊ะประชุมของรัฐบาล มันเป็นความสามารถในการหยั่งถึงผลประโยชน์อันไร้เดียงสาของแต่ละกลุ่ม จนกระทั่งถึงผลประโยชน์ที่ถาวรและแท้จริงของชาติ ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญ ความเมตตา และข้อมูลที่กว้างขวาง นี่เป็นเหตุผลที่ว่าเพราะเหตุใด เราจึงหารัฐบุรุษกันได้ยาก

ความตั้งใจอย่างเดียวยังไม่ดีพอ ในศาสตร์ของการบริหารจำต้องอาศัยทักษะ ในการเข้าใจต่อปัญหา และนำทักษะนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์คนดีๆ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงบนเวทีการเมือง โดยปราศจากความรู้เกี่ยวกับกฎการปกครอง อุปมาดังพ่อค้าวาณิชหรือนักธุรกิจที่ต้องการจะทำการค้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะค้าจะขายอะไรดี หรือบุคคลที่ต้องการจะขับรถแต่ไม่เข้าใจว่ารถวิ่งได้อย่างไร จนบัดนี้ แม้ว่าสังคมจะตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันตัวเองจากบุคคลประเภทหลัง แต่สังคมก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองจากคนกลุ่มแรก แท้จริงแล้วนักการเมืองอ่อนหัดที่มีคุณธรรม ก็สามารถสร้างความลุ่มหลงอย่างไม่อาจต้านทานได้สูงมาก

สังคมต้องเรียนรู้ที่ป้องกันตนเอง จากนักการเมืองไม่ดี ที่มองศาสตร์แห่งการปกครองเป็นเพียงเกมชนิดหนึ่ง และอาศัยสิ่งเหล่านี้มาบงการสังคมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และในขณะเดียวกัน สังคมต้องเรียนรู้ที่จะต้องป้องกันตนเองจากที่ดีเกินไปที่จะรับรู้ถึงเกมการเมือง


บทนำบรรณาธิการ
“ปัญญาตะวันออก”
วิริญบิดร วัฒนา

ในฐานะคนอุษาคเนย์ เราภาคภูมิใจในผลงานชิ้นนี้

การนำเสนอ “คัมภีร์ราชนีติ” นับเป็นการบรรลุภารกิจสำคัญ MBA ได้เคยสัญญากับผู้อ่านไว้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรานำเสนอผลงานเรื่องราวของศาสตร์การจัดการสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง แทบทั้งหมดเป็นของนักคิด นักวิชาการตะวันตก จนดูราวกับว่า “กระบวนทัศน์ฝรั่ง” คือความเป็นเลิศ หนึ่งเดียว ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากแต่เกิดจากความสามารถในเชิงเทคนิค คือการรวบรวมอย่างเป็นระบบ มีต้นฉบับ จำนวนมาก นำเสนอให้ง่าย มีกระบวนการทางด้านการตลาดในการเผยแพร่

ตรงข้าม ยิ่งเรานำเสนอ “กระบวนทัศน์ฝรั่ง” ก็ยิ่งเชื่อว่า “กระบวนทัศน์ตะวันออก” สู้ได้ เหนือชั้นและลึกซึ้ง แต่ต้องค้นหาและผลักดันเข้าสู่แวดวง “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” ให้ได้

MBA จึงเริ่มต้นแสดงหา “ต้นฉบับ” จากฝ่ายนักคิดตะวันออก ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องลึกซึ้ง ง่ายต่อความเข้าใจ หากแต่ยังต้องพิสูจน์ตนเองมาแล้วในสมรภูมิการจัดการ

ไม่ใช่เป็นเพียงคัมภีร์ที่เคลือบด้วยความงาม ทางภาษา หากต้องเห็นผลในทางปฏิบัติได้จริง “ราชนีติ” คือมรรคผลนั้น

ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาติตะวันตกต่างต่อสู้เพื่อแย่งชิงอินเดีย ให้ตกเป็นอาณานิคมนั้น นอกไปจากวัตถุดิบ และแรงงานป้อนสังคมอุตสาหกรรมใหม่ของตนแล้ว สิ่งที่ชาติตะวันตกต้องการจากอินเดีย เพื่อสนับสนุนความยิ่งใหญ่แท้จริงก็คือ อารยธรรมอันสมบูรณ์พร้อม

ซึ่งในบางสิ่งนั้น ตะวันตกไม่มี

คำถามหลายๆ เรื่องที่ปรัชญาเมธีตะวันตกได้เพียงแต่ตั้งปุจฉาไว้ กลับสามารถพบคำตอบจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเฉลยไว้ก่อนล่วงหน้ากว่าพันปี

ภาษาสันสกฤต วรรณกรรม และปรัชญา เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญ สืบเนื่องจากเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือความจริงที่ว่า อารยธรรมอินเดีย คือ ต้นธารที่ไหลแยกเป็นหลายสายแทรกซึมอยู่ในหลักความคิดแห่งการเชื่อมโยง ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นแก่นแกนเอกภาพขององค์สหวิทยาการ อันรวมอยู่ในกระบวนทัศน์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของสังคม และยังชี้นำกำหนดนโยบาย โครงสร้างจากส่วนบน ทั้งในระดับสัมพันธ์เชิงอำนาจ และระบบปัญญาความคิด ของภูมิภาคเอเชียเอเชียเกือบทั้งหมด

โดยเฉพาะศาสตร์แห่งอำนาจ และการปกครอง อรรถศาสตร์ นีติศาสตร์ และโมกษศาสตร์ อันมีความหลากหลายครอบคลุมมากกว่าแหล่งอารยธรรมอื่น

คัมภีร์โลกนีติ ธรรมนีติ ราชนีติ ทัณฑนีติ ราชสวัสดิ์ อรรถศาสตร์ จารึกอโศก คัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ราชธรรม 38 ประการ ในวิทิตชาดก ทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดก จักกวัตติวัตร ในพระไตรปิฎก จาณักยศตกะ วยาการศตกะ จามเทวีวงศ์ อปริหานิยธรรม หิโตปเทศ นิทานปัญจตันตระ ชินกาลมาลีปกรณ์

เหล่านี้ล้วนอยู่ในความต้องการของชาติตะวันตก ที่จะนำไปศึกษา นอกเหนือจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อุปนิษัท และมหากาพย์ต่างๆ ที่ได้รับรู้มาก่อนแล้ว และคือบางส่วนของอิทธิพลจากอินเดียที่ไทยรับมาทั้งโดยตรงและทางอ้อมจากอาณาจักรขอม เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างชนชั้นปกครอง อันพร้อมด้วยองค์คุณแห่งการบริหารอำนาจเพื่อธรรม

ขณะที่คัมภีร์การปกครองของปราชญ์ตะวันตก มักสุดโต่ง ในทางแสวงอำนาจ ความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพและการดำรงอยู่อย่างปัจเจกนิยม ปรัชญาของเมธีตะวันออก ก็มักจะมีเป้าหมายที่การอยู่ร่วมกันและความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพชีวิต เมตตาธรรม และโมกษธรรม

แต่ในบรรดาคัมภีร์ทั้งหมดนั้น “ราชนีติ” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ผสมผสานระหว่าง พราหมณ์และพุทธ กลับมีลักษณะความคิดที่ครอบคลุมทั้งแบบอุดมการธรรม และอำนาจเบ็ดเสร็จ แบบเทวนิยมและอเทวนิยม ทั้งอหิงสาและปฏิยุทธ์ มีทั้งนโยบาย เพทุบาย และกุศโลบาย ขณะที่ให้ความสำคัญเรื่องหนึ่งก็ไม่ละเลยรายละเอียดอีกด้าน แล้วยังหลีกเลี่ยงแนวทางสุดโต่ง และรวบรัดความคิดทั้งหลาย

นอกจากนั้น ราชนีติ ยังเป็นคัมภีร์หนึ่งเดียวอันมีแนวทางที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงศึกษา และใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง บริหารบุคลากร การคลัง และตรวจสอบราชการตลอดยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา จวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการถ่ายทอดระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น

ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มักจะได้รับคำอบรมสั่งสอนแต่เพียงว่า “ทศพิธราชธรรม” คือธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ปกครองบ้านเมือง แต่ตามราชนีติ กำหนดให้ทศพิธราชธรรม เป็นคำสอนข้อที่ 131 ในบรรดาที่มีทั้งหมด 153 ข้อ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีโศลกสรรเสริญพระบารมี ลิลิตของพระองค์เจ้าคุณณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) มีความตอนหนึ่งว่า

ธรรมศาสตร์ไสยศาสตร์ทั้ง ราชนิติ์
โลกยวัตรสุภาษิต ก่อนกี้
ไทยขอมแขกอังกฤษ วจนวากย์
สรรพศาสตร์ดั่งเช่นชี้ พระแจ้งเจนเกลียว

โศลก บทนี้ อาจจะช่วยไขปัญหาของเราที่ว่า เพราะเหตุใดยุวกษัตริย์ในกาลก่อน ที่ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติตั้งแต่ทรงเยาว์วัย นับจากชมพูทวีป พุกาม จนถึงสุวรรณภูมิ จึงทรงปรีชาสามารถยิ่งนัก ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่จำกัด สามารถก้าวผ่านไปได้ด้วย “คัมภีร์ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” ที่ผ่านการกลั่นกรอง และเคี่ยวจนข้นเหลือ เป็นคำสอน 153 ข้อ อ่านจบได้เพียงชั่วยาม ก่อนปกครองไปอีกหลายทศวรรษ และถ่ายทอดกันเป็นการภายใน ไม่ให้แพร่งพราย เว้นเสียแต่ส่วน “ทศพิธราชธรรม”

ในแง่ของผู้ถูกปกครอง นี่คือความแจ่มแจ้งว่า โดยเนื้อแท้แล้วพวกเรา อยู่ภายใต้ “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” แบบใดกันแน่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ราชนีติ” น่าจะเป็นศาสตร์แห่งการจัดการ “ตัวจริง” ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างล้ำลึกจากเบื้องบนมากที่สุด

ตามประวัตินั้น ราชนีติเป็นคัมภีร์โบราณ รจนาโดย พราหมณ์อนันตญาณ และพราหมณ์คณมิสกะ เชื่อว่ามีความเก่าแก่กว่า 2,000 ปี แต่หากนับรวมเวลาที่ หลักการเหล่านี้ได้ถ่ายทอดแบบมุขปาฐะแล้ว คงจะมีมานานตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ในการศึกษาเชิงประวัติและที่มา โดย ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณคดีไทย พบว่า ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คัมภีร์ราชนีติ ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยพระมหาแก้ว วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ.2348 แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีต้นฉบับ เพียง 58 คาถา จนกระทั่งถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีความสนพระทัยในภูมิธรรมของอินเดียอยู่มาก ได้รวบรวมต้นฉบับจนสมบูรณ์ และให้พระญานวิจิตร แปลต่อตั้งแต่คาถาที่ 58 จนครบบริบูรณ์ และในปี พุทธศักราช 2470 นายกิม หงศ์ลดารมณ์ ก็ได้แปลคัมภีร์ราชนีติ จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ให้ชื่อว่า ราชนีติปกรณ์ และในปีพุทธศักราช 2507 ก็ได้นำมาชำระภาษาบาลี และภาษาไทยใหม่อีกครั้ง รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขให้ง่ายขึ้น โดยนายเกษม บุญศิริ และได้ใช้ชื่อว่า “ราชนีติ”

ปัจจุบัน แม้เวลาล่วงเลยมากกว่า 2,500 ปี และภารตวิทยา จะกลับกลาย เสมือนสิ่งพ้นสมัยในโลกยุคนี้ ชาติตะวันตกใช้เวลา เพียงร้อยกว่าปี เปลี่ยนประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นชาติใหม่ ด้วยระบบการศึกษาของคนตะวันตก โดยตะวันตก เพื่อตะวันตก เช่นเดียวกับระบบการพาณิชย์ และระบบการเมือง การปกครอง แต่ “ราชนีติ” ยังคงความเป็นอมตะ โดยได้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมใน หมู่นักรัฐศาสตร์ ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมา ยังมีการเผยแพร่ เฉพาะวงจำกัดในชุมชนวิชาการ

ภูมิปัญญาชั้นสูงนี้ ครั้งหนึ่งบรรพชนฝ่ายเรา เคยนำไปปะทะภูมิปัญญาฝรั่ง จนสามารถกลั่นกรอง เลือกรับ เลือกรู้ ปรับใช้ไม่ถูกครอบงำทางความคิดโดยเบ็ดเสร็จ รักษาชาติ บ้านเมืองมาแล้ว

ถึงวันนี้ MBA ขอนำ “ราชนีติ” เข้าสู่แวดวงของ “ศาสตร์และศิลปะแห่งการจัดการ” เป็นการประเดิมความมุ่งหวังที่จะแสวงหา นำเสนอ “ปัญญาตะวันออก” เข้าสู่แวดวงดังกล่าว อย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป

เพื่อให้ภารกิจ ดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว สมพงศ์ สุวรรณจิตกุล ได้ร่วมกันถอดความเป็นภาษาอังกฤษ โดยมุ่งหวังให้เป็นสิ่งปะทะท้าทาย “ศาสตร์ การจัดการสมัยใหม่“แห่งโลกตะวันตกนั่นเอง




โครงสร้าง เรียบเรียง จัดแบ่งเนื้อหา จำนวน 153 บท ที่ประกอบด้วย

ตัวอย่าง

บทที่ 1
ข้าพเจ้าจะแสดงราชนีติที่เห็นประโยชน์ทันตา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการขยายพระราชอาณาจักร

บทที่ 2
ข้าพเจ้าจะกล่าวคุณสมบัติแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอิสราธิบดี และอำมาตย์ข้าเฝ้า อันว่าพระมหากษัตริย์อันสูงศักดิ์ ควรทรงพิจารณาให้ตระหนักซึ่งข้าเฝ้าโดยชอบในกาลทุกเมื่อ

บทที่ 152
พระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้คัมภีร์นีติศาสตร์ จนสอดคล้องในพระราชหฤทัย ทรงรอบรู้นัยยะต่างๆ เป็นอย่างดี ก็ย่อมจะไม่ถึงความพินาศ ทั้งยังทรงได้ชัยชำนะทั่วรัฐมณฑล และทรงเพลิดเพลินในสวรรค์

บทที่ 153
ท่านพราหมณ์อนันตญาณ กับท่านพราหมณ์คณามิสกะ ผู้เป็นราชปุโรหิตของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้รจนาคัมภีร์ราชนีตินี้ไว้ เพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ประชุมชนฉะนี้แล

จบคัมภีร์ราชนีติเท่านี้แล


ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ
ปีที่พิมพ์ : มีนาคม 2545
ชื่อหนังสือ : ราชนีติ
ประเภท : ความรู้ด้านการเมืองการปกครอง
ชื่อผู้เรียบเรียง : สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
บรรณาธิการ : วิริญบิดร วัฒนา

ข้อมูลทางบรรณานุกรม
สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
ราชนีติ.- - กรุงเทพฯ : สื่อดี, 2545
189 หน้า
I. ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ผู้แต่งรวม
II.ชื่อเรื่อง
ISBN 974-90255-7-1

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ

ประวัติ

สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล
สื่อมวลชนที่มีประสบการณ์ในด้านมุมมองทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยในปัจจุบันทำหน้าที่สื่อทางสังคม ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผู้จัดการ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและมุมมองใหม่ทางความคิด ผ่านการถ่ายทอดสู่สังคมไทยด้วยการจัดทำหนังสือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
อดีตนักการธนาคาร ผู้มีแนวคิดและความเชื่อมั่นในเรื่องความเข้าใจและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของทุนในระดับโลก รวมทั้งสนใจการพัฒนาองค์ความรู้ และการถ่ายทอดทางปัญญา จึงพัฒนาความคิดสู่การทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยในปัจจุบันเป็นเจ้าของนิตยสาร Corporate Thailand นิตยสาร MBA และสื่อรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดการ และบริหารทุน ผสมผสานกับมุมมองของแนวคิดสมัยใหม่ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมไทย